ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

คำอีสานชวนรู้ “สะออน”

#ตัวอย่างการใช้งาน #คำอีสานชวนรู้ “สะออน” (English below) #ตัวอย่างที่1 “สะออนเพิ่นเด้ ได้ผุบ่าวฮู้จักควม” (แปลว่า: อิจฉาเขาจัง มีแฟนแสนดี) #ตัวอย่างที่2 “ไทบ้านนั่นได้โรงสีใหม่ เป็นตาสะออนแท้น้อ ” (แปลว่า: หมู่บ้านนั้นได้โรงสีใหม่ น่าอิจฉาจังเลย) #ตัวอย่างที่3 “งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์คือคักหลาย สะออนผู้ได้ไปหลายเติบ” (แปลว่า: เทศกาลอีสานสร้างสรรค์สนุกมาก อิจฉาคนได้ไปงานสุดๆ) บ้านเจ้าไซ้แบบได๋ อย่าลืมเม้นท์บอกกันแหน่เด้อสู . ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่น่าสนใจได้จากเพจ Isan Creative Festival Website: isancreativefestival.com Facebook: isancreativefestival Instagram: @isancreativefestival Line@: @isancf #ISANCF2021 #อีสานสร้างสรรค์ #isancreativefestival

Baan Chiang

ไปอยู่ไปกิน กับคนบ้านเชียง: Living at Ban Chiang แนะนำแผนท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน โดย วิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง ทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวแบบเที่ยวคนเดียวหรือเป็นกลุ่มขนาดเล็ก (6 คนขึ้นไป) ท่องเที่ยวชุมชน.. ไปอยู่กับ “คนบ้านเชียง” เรียนรู้ศิลปะปั้นภาชนะดินเผาลายเขียนสีจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ลองย้อมผ้าโคลนคราม ภูมิปัญญามัดย้อมผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ ศึกษาแหล่งอารยะ “พิพิธภัณ์บ้านเชียง และ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง วัดโพธิ์ศรี” อยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน กับกิจกรรมทำอาหารพื้นถิ่นร่วมกับครอบครัวเจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์ กินอิ่ม-นอนหลับในห้องพักมาตรฐานโฮมเตย์ไทย ตื่นเช้าใส่บาตรหน้าบ้าน ก่อนจะชิมช็อปกระจายกับถนนคนเดินสายวัฒนธรรม และรับของที่ระลึกจากบ้านเชียง กลับบ้านด้วยความสุข Day 1: 10.00 น. เดินทางถึงบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี แหล่งอารยธรรมโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเข้าพักกับ “วิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง” โดยมีเจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์รอต้อนรับนักท่องเที่ยว แล้วเก็บของสัมภาระเข้าที่พัก ภายในบ้านพักโฮมสเตย์ บ้านไม้หลังใหญ่มีชานบ้านกว้างขวาง ในรูปแบบของสถาปัตยกรรม “บ้านไทพวน” อันเป็นชาติพันธุ์ของคนบ้านเชียง 10.30 น. เดินชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง และ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง วัดโพธิ์ศรีใน” แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโบราณ และเป็นมรดกโลก พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง วัดโพธิ์ศรีใน จัดแสดงหลุมขุดค้นจริงในรูปแบบพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง แห่งแรกของประเทศไทย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบในพื้นที่หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในแสดงถึงพิธีกรรมการฝังศพรวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบร่วมกับโครงกระดูก มีอายุอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์  ตั้งแต่ประมาณ  ๕,๖๐๐-๑,๘๐๐  ปีมาแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกฝังร่วมกับหลุมศพตามความเชื่อของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ และถูกค้นพบมากที่สุดอย่างหนึ่งเลยก็คือ “ภาชนะหม้อดินเผา” นำมาซึ่ง “หม้อดินเผาลายเขียนสี” อันเป็นเอกลักษณ์ของงานฝีมือบ้านเชียง 11.30 น. มาร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อป ชมฝีมือการทำอาหารเมนู “ข้าวผัดข่าแจ่วหอมหวาน” จากแม่ๆของ “เฮือนอาร์ โฮมสเตย์” 12.00 น. และทานมื้อเที่ยงด้วยเมนู “ข้าวผัดแจ่วข่าหอม” และ “ซ้วนเส้น” ซึ่งทั้งสองเมนูนี้ คือ อัตลักษณ์ทางอาหารของบ้านเชียง เป็นเมนูที่สร้างสรรค์ขึ้นจากวัตถุดิบท้องถิ่นและฝีมือการทำอาหารชั้นเลิศของคนบ้านเชียง 13.00 น. หลังจากทานมื้อเที่ยงก็เริ่มเข้าสู่ช่วงงานฝีมือ โดยเริ่มจากการไปเยือน “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปั้นหม้อเขียนสี” เพื่อชมสาธิตและร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อป การปั้นหม้อ และ การเขียนสีบนภาชนะดินเผา ด้วยลายเขียนสียุคก่อนประวัติศาตร์ กิจกรรมของกลุ่มนี้จะแยกรายการเป็นรายกิจกรรม คือ หากสนใจเรื่องงานเขียนสี ลวดลายจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็สามารถแจ้งเรียนเฉพาะเรื่องนี้ แต่หากใครสนใจเรื่องงานปั้นหม้อ ก็สามารถเลือกทำกิจกรรมปั้นหม้อเท่านั้น  และถ้าสนใจทั้งสองกิจกรรม ก็แจ้งเหมาไปเลย 14.30 น. ตระเวนเที่ยวเล่นในบ้านเชียงกันพอสมควรแล้ว ก็นั่งรถซาเล้งพ่วงรับลมเย็นๆ อากาศบริสุทธิ์ของชุมชนในพื้นที่ตำบลบ้านเชียง เพื่อไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง นั่นคือ บ้านดงเย็น ที่นี่มีแหล่ง “โคลนดินดำ” ซึ่งถูกนำมาปั้นหม้อ แต่นอกเหนือจากปั้นหม้อแล้ว ก็ยังมีการนำโคลนมาย้อมผ้า จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ “ผ้าย้อมโคลนคราม” นอกจากกลุ่มงานผ้าโคลนคราม ที่นี่ก็ยังมีกลุ่มงานจักรสานที่มีฝีมือชั้นยอดไม่ต่างกัน ห้ามพลาด! พักเบรคชิม “ชาข่าเขียว” และ “ขนมปาด” ของว่างขึ้นชื่อของชุมชนดงเย็น 16.30 น. กลับมาชุมชนบ้านเชียง เดินเล่นในชุมชน ก่อนจะไปชมบ้านเก่า “เฮือนไทพวน” เฮือนไทพวนที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์นี้ อดีตเคยเป็นพื้นที่หนึ่งที่ถูกขุดค้นและพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งครั้งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จเยี่ยมชมงานขุดค้นที่บ้านเชียง เมื่อปี พ.ศ. 2515 นั้น ทั้งสองพระองค์ได้ขึ้นไปเยี่ยมชมบ้านไทพวน และทรงชื่นชมงานสถาปัตยกรรมของบ้านไทพวนที่น่าอยู่หลังนี้ 17. 30.น. กลับไปยังบ้านพักโฮมสเตย์ เพื่อทำกิจกรรมทำอาหารร่วมกับเจ้าของบ้านโฮมเตย์ กับเมนู “ต้มไก่บ้านใส่ใบมะขามอ่อน” เริ่มจากช่วยคุณแม่เจ้าของบ้านเก็บใบชะมวง และร่วมด้วยช่วยทำถึงในครัว 18.30 น. ทานมื้อเย็นที่บ้านพักโฮมสเตย์ กับ เมนูอาหารที่มีส่วนได้ร่วมทำ Day 2: 08.00 น. ทำบุญตักบาตรร่วมกับเจ้าของบ้าน ที่หน้าบ้านพัก 08.30 น. ทานอาหารเช้า (ข้าวต้มทรงเครื่อง ผลไม้ตามฤดูกาล) 09.30 น. เดินเล่นช็อปปิ้งก่อนกลับ ณ ถนนสายวัฒนธรรม บ้านเชียง  ของฝากและงานฝีมือของที่นี่ ประณีตงดงาม และเป็นเอกลักษณ์ให้คิดถึงบ้านเชียงได้เสมอ   จบทริป. ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท ต่อ คน (สำหรับกลุ่ม 5 คน) 3,000 baht/person (for a group with 5 members) ติดต่อ: 081 – 485 – 1864 (พ่อชุมพร Chompon วิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง) Facebook: วิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง    

Sin Xay and History of ISAN

สินไซ และเรื่องเล่าขานของแดนอีสาน – Sin Xay and History of ISAN “สินไซ” คือวรรณคดีท้องถิ่นภาคพื้นอุษาคเนย์ พบหลักฐานของวรรณคดีเรื่องนี้ทั้งที่ประเทศไทย ลาว พม่า และกัมพูชา ความน่าสนใจอย่างยิ่งของ “สินไซ” คือการพบว่าคนอีสานแต่โบราณนั้นได้มีการนำเรื่องราวของสินไซไป “แต้ม” (คำว่า แต้ม เป็นภาษาถิ่นของกลุ่มวัฒนธรรมลาวในภาคอีสาน หมายถึง การวาด ส่วนคำว่า “ฮูปแต้ม” หมายถึง ภาพวาด หรือ จิตรกรรม)ไว้ตามฝอุโบสถของวัดเก่าแก่หลายแห่งทั่วภาคอีสาน คล้ายกับจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ หรือพุทธประวัติบนฝาผนังโบสถ์ของวัดโดยส่วนใหญ่ ทำให้เรื่องราวของสินไซเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อมา หากแต่น่าเสียดายว่าคนอีสานรุ่นใหม่กลับไม่ค่อยรู้จักวรรณคดีเรื่องนี้แล้วหากแต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งยังคงอนุรักษ์เรื่องราวของสินไซ และ พยายามเล่าขานบอกต่อให้มรดกทางวัฒนธรรมเรื่องนี้ยังคงอยู่สืบไป และนี่คือ แผนการเดินทางท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน จากขอนแก่น สู่มหาสารคาม เพื่อตามรอยสินไซและไปค้นพบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ในแดนดินอีสาน ไปรู้จักกับกลุ่มคนที่ทำงานเพื่ออนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะเรื่องราวของ “สินไซ” รู้จักกับสินไซ มาเริ่มทำความรู้จักกับสินไซ วรรณคดีพื้นถิ่นของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของเรากันที่ “โฮงสินไซ” ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โฮงสินไซเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับสินไซไว้หลากหลายรูปแบบ และจัดพื้นที่บ้านสวนภายใต้ร่มไม้ใหญ่อันร่มรื่นแห่งนี้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีสินไซเป็นแกนหลักของพิพิธภัณฑ์ ภายในพื้นที่โฮงสินไซ มีเคาน์เตอร์ดริปกาแฟที่อาจารย์ทรงวิทย์ใช้ในการต้อนรับผู้มาเยือนบ้านหลังนี้ และเริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวของสินไซให้แก่ผู้ที่สนใจอย่างยินดีเสมอ ชั้นบนของบ้าน มีภาพวาดลายเส้นแบบ “ฮูปแต้ม” หรือ จิตกรรมฝาผนัง ร้อยเรียงเรื่องราวของสินไซ ซึ่งปรากฎอยู่ตามผนังของ “สิม” หรืออุโบสถของวัดเก่าแก่หลายแห่งซึ่งกระจายอยู่ในแถบภาคอีสาน และในประเทศลาว โดยภาพนี้เป็นหนึ่งภาพที่สรุปเรื่องราวของสินไซว่าถูกจารึกไว้อยู่ที่วัดแห่งใดบ้าง และมีความโดดเด่นของภาพเป็นบทตอนใดในเนื้อเรื่องการผจญภัยของสินไซ ลายเส้นฮูปแต้มนั้นค่อนข้างโดนเด่นและมีเอกลักษณ์แตกต่าง เนื่องจากส่วนมากจะวาดขึ้นโดยช่างฝีมือชาวบ้าน และมีการใช้สีจากธรรมชาติตามภูมิปัญญาของช่างแต้มในสมัยนั้น และอาจารย์ทรงวิทย์ก็ยังได้รวบรวมสมุดบันทึก บทละคร บทหมอลำ รวมไปถึงหลักฐานของวรรณคดีเรื่องสินไซนี้ที่ถูกค้นพบในแบบฉบับทั้งของไทย และ ประเทศอื่นๆในภูมิภาค หากอยากเริ่มต้นทำความรู้จักวรรณคดีเรื่องสินไซแล้วล่ะก็ เราขอแนะนำให้มาเยือนบ้านของสินไซอันแสนอบอุ่นที่ชื่อว่า “โฮงสินไซ” แห่งนี้ก่อนเป็นอันดับแรกเลย ไทบ้านดงน้อย แผ่นดินอีสาน และ สินไซในหมอลำ จากขอนแก่นมุ่งหน้าออกเดินทางสู่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นระยะทางกว่า 130 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อเดินทางมายัง “บ้านดงน้อย” ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม หมู่บ้านแห่งนี้มีแพ็กเกจท่องเที่ยวชุมชน 2 วัน 1 คืน ที่จะพาทุกคนไปสัมผัสบรรยากาศบ้านๆของชุมชนอีสาน เรียนรู้ประวัติศาสตร์และอารยธรรมในแถบนี้ ก่อนจะไปพบกับสินไซตัวจริง บนฝาผนังโบสถ์ของวัดเก่าแก่ และที่สำคัญ หมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ยังยกระดับภูมิปัญญาหมอลำ ด้วยความคิดสุดสร้างสรรค์ ก่อเกิดเป็นกิจกรรมของเยาวชนและชาวบ้านในชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วมและน่าภาคภูมิใจ ไปตะลุย บ้านดงน้อย กับกิจกรรมท่องเที่ยวในแพ็กเกจกันเลย 11.00 น. เดินทางถึง บ้านดงน้อย ต.พระธาตุ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม แรกเมื่อเดินทางมาถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านในชุมชนจะนำทางลูกทัวร์ไปสักการะ “ดอนปู่ตา” ณ ป่าชุมชน เพื่อไหว้ขอพรสิ่งศักิดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ตามความเชื่อของผู้คนที่นี่ 12.00 น. ร่วมทานอาหารกลางวันร่วมกับคนในชุมชน กับเมนูอาหารพื้นถิ่นเลิศรส จัดเต็มกันมาทั้ง “ส้มตำ ไก่บ้านย่างมดแดง หลามปลา” ห้ามพลาด! เมนู “แกงหน่อไม้” จากผืนป่าไผ่ของชุมชนที่มีมากในช่วงหน้าฝน และหวานเลิศรสสดๆจากกอ 13.00 น. หลังจากทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ก็ร่วมเวิร์คช็อปทำ “สบู่ยางนา” ด้วยกรรมวิธีง่ายๆร่วมกับกลุ่มแม่บ้านของชุมชนดงน้อย พื้นที่บริเวณโดยรอบของชุมชนดงน้อย มีภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นยางนา ชาวบ้านดงน้อยอนุรักษ์และปลูกป้ายางนาเป็นจำนวนนับหมื่นต้น ภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนดงน้อยผู้คนใช้ประโยชน์จากต้นยางนาในแทบจะทุกส่วน ตั้งแต่ลำต้น เปลือกไม้ ดอก และน้ำยาง 14.30 น. จบจากกิจกรรมในร่มก็ถึงเวลาไปชมสิมโบราณ หรือ อุโบสถ ณ “วัดโพธาราม บ้านดงบัง” ห่างจากบ้านดงน้อยเป็นระยะทางราวๆ 3 กิโลเมตร ไปพบกับ “สินไซ” ตัวจริง บน “ฮูปแต้ม” จิตรกรรมฝาผนังของสิม การชมความงดงามของศิลปะช่างชาวบ้านบนผนังสิมในเรื่องราวของสินไซครั้งนี้ ทางชุมชนได้จัดเตรียมมัคคุเทศน์น้อย เยาวชนจากโรงเรียนบ้านดงบัง มาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวของวรรณคดีเรื่องนี้ที่ปรากฏในแต่ละภาพบนผนังแต่ละฝั่งของสิม นอกจากสิมโบราณที่ชาวบ้านยังมีการอนุรักษ์ไว้และใช้งานจนถึงปัจจุบันสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีกชิ้นหนึ่งของวัดโพธารามที่น่าประทับใจไม่แพ้กัน คือ หอแจก หรือ ศาลาการเปรียญหลังเก่า ซึ่งเป็นศิลปะสกุลช่างญวนจะมีส่วนผสมศิลปะจีน เวียดนาม และฝรั่งเศสกับคติศิลปะของชาวบ้านอีสาน น่าเสียดายที่โครงสร้างของศาลาการเปรียญวัดโพธาราม บ้านดงบัง หลังนี้กำลังเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา 15.30 น. ออกจากบ้านดงบัง ไปยังอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับบ้านดงน้อยเช่นกัน ก็คือ “กู่สันตรัตน์” ปราสาทหินที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือราวๆปีพ.ศ. 1700-1750 เทวรูปที่ถูกค้นพบในการขุดค้นซากโบราณสถานกู่สันรัตน์ เป็นหลักฐานชี้ชัดว่า ศาสนสถานจากยุคขอมแห่งนี้ คือ “อโรคยาศาล” หรือโรงพยาบาล ของผู้คนในยุคโบราณ ใกล้กับกู่สันตรัตน์ มีการจัดตั้ง “พิพิฑธภัณฑ์ท้องถิ่นกู่สัตรัตน์” ซึ่งดูแลโดยคนในพื้นที่ เป็นที่เก็บหลักฐานทางโบราณคดีอีกแห่งหนึ่ง นอกจากกู่สันตรัตน์แล้ว พื้นที่ของอำเภอนาดูนนั้น มีการค้นพบหลักฐานโบราณสถานที่ชี้ชัดว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณของ “นครจำปาศรี” นครเมืองในยุคโบราณนั่นเอง 17.00 น. กลับจากตระเวนไปยังสถานที่ต่างๆกับหลากหลายสถานที่ที่น่าสนใจโดยรอบชุมชนดงน้อยแล้ว ก็ได้เวลาเก็บสัมภาระเข้าพักยังบ้านพักโฮมสเตย์ของบ้านดงน้อย และพักผ่อนกินขนมแสนอร่อย ฝีมือแม่ๆในชุมชน 18.30 น. รวมตัวทานอาหารมื้อเย็นที่ศาลาการเปรียญของหมู่บ้านดงน้อย กับเมนูแนะนำ “ต้มไก่บ้าน” ครั้งแรกกับการลิ้มรส “สกอร์เปี้ยนลุยไฟ” เมนูเปิบพิสดารของหมู่บ้าน รับรองความอร่อยเกินคาด! 19.00 น. ชมการแสดง “หมอลำหุ่นกระติ๊บข้าว คณะเด็กเทวดา” ของเยาวชนและชาวบ้านในชุมชนดงน้อย ซึ่งเป็นหยิบยกเอาเรื่องราว “สินไซ” มาเรียบเรียงเป็นหมอลำที่สนุกสนานตามแบบฉบับอีสาน ปิดท้ายด้วยการให้นักท่องเที่ยวทดลองเชิดหุ่นกระติ๊บข้าว โดยเด็กๆในชุมชนเป็นคนช่วยฝึกสอน วันที่2 07.00 น. ร่วมทำบุญ ตักบาตรข้าวเหนียวที่หน้าบ้านพักโฮมสเตย์ 08.00 น. ทานอาหารเช้า และทำกิจกรรมปลูกต้นยางนา เป็นสัญลักณ์หนึ่งที่แสดงว่า ครั้งหนึ่งเคยาเยือนบ้านดงน้อยแห่งนี้ 09.00 น. เวิร์คช็อปงานประดิษฐ์หุ่นละคร จากกระติ๊บข้าวและวัสดุพื้นบ้าน 10.00 น. เจ้าของบ้านพักผูกข้อต่อแขนด้วยฝ้ายสายสิญจ์ ส่งนักท่องเที่ยวกลับบ้านอย่างอบอุ่น   แวะกราบสักการะ “พระธาตุนาดูน” โบราณสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมือง อ.นาดูน และเดินทางกลับขอนแก่นโดยสวัสดิภาพ จบทริป “สินไซและเรื่องเล่าขานของแดนอีสาน” ด้วยบรรยากาศของชุมชนอีสานในปัจจุบันของบ้านดงน้อย จังหวัดมหาสารคาม        

Molam Bar Installation : Gastronomy Sector

สัมผัสความอร่อยของการยกระดับอาหารริมทางแบบอีสาน ดึงเอาเอกลักษณ์ความของแซ่บ เผ็ดร้อน หอมฉุน และนัวปลายลิ้นของอีอาหารอีสานออกมาตัดกับความหวานและความหอมของเครื่องดื่มที่หยิบจับเอาสมุนไพรท้องถิ่นเข้ามาผสมกันเป็นม็อกเทลรสชาติดี คลอไปกับบรรยากาศของเพลง การออกแบบ เสียงและแสงขับเน้นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของสถานที่ เป็นประสบการณ์ที่ชวนให้เข้ามาสัมผัสทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง การเลือกสรรเมนูอาหารในนิทรรศการหมอลำบาร์ ล้วนมีพื้นฐานจากรสอาหารอีสานที่คุ้นตาคุ้นลิ้นของคนในท้องถิ่น รสนัวของปลาร้า เสริมทัพด้วยความเผ็ดจากพริก ตัดหวานด้วยน้ำตาล เพิ่มความหอมด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน และจบท้ายด้วยผักกลิ่นหอมรสโดดเด่น ทำให้หนึ่งคำของแต่ละเมนูที่ได้รับประทานนั้นครบรส ครบเครื่องในหนึ่งคำ ในขณะที่เครื่องดื่มทั้ง 2 เมนูล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากการหยิบจับเอาสมุนไพรและผลไม้ในท้องถิ่นมาผสมกับความหวานของน้ำผึ้งและความสดชื่นของโซดา   อาหาร (Food) หมูย่างหมักซอสปลาร้าสมุนไพร เนื้อหมู โปรตีนหลักของเมนูนำมาปรุงกับปลาร้าปลากระดี่โฮมเมดไม่ใส่สารปรุงแต่ง นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องแกงสมุนไพรอย่างอีสานที่หาได้จากพื้นถิ่นอีสานบ้านเฮา หมักและนำไปย่างถ่านจน กลายเป็น ย่างหมูหมักซอสปลาร้าสมุนไพร วัตถุดิบ และเครื่องปรุง สันคอหมู 1 กิโลกรัม ตะไคร้ 30 กร้ม พริกสด 30 กรัม ข่าแก่ 50 กรัม กระเทียม 50 กรัม หอมแดง 50 กรัม ใบมะกรูดซอย ใบชะพลู ปลาร้าตัว 200 กรัม วิธีการทำ 1.นำพริกสด ข่า กระเทียม หอมแดง ย่างไฟให้มีกลิ่นหอม แล้วโขลกให้ละเอียดพร้อมกับตะไคร้สด 2.นำปลาร้ามาปั่นให้ละเอียด แล้วผสมกับเครื่องเทศที่โขลกละเอียดไว้ 3.นำสันคอหมูมาหั่นเป็นลูกเต๋า ให้ขนาดพอดีคำ แล้วนำไปคลุกให้ทั่วกับน้ำหมักซอสปลาร้าที่เตรียมไว้        ประมาณ 15 นาที 4.เมื่อหมูหมักได้ที่ นำไปอบในอุณภูมิประมาณ 200 องศาเซลเซียส เวลาประมาณ 15 นาที 5. เมื่ออบเสร็จแล้วนำมาพักไว้ให้เย็น แล้วนำไปย่างไฟ เพื่อให้เครื่องเทศมีกลิ่นหอมมากขึ้น ทานคู่กับใบชะพลู .     ลาบไก่ซอสเกาหลี เครื่องลาบอีสาน พริกป่น ข้าวคั่ว น้ำปลา มะนาว ใบมะกรูด ขึ้นชื่อเรื่องความหอมอร่อยและเรียกน้ำลายกับทุกคนได้เสมอ ผสมผสานกับกลิ่นหอมของโคชูจัง น้ำมันงา ขิง กระเทียม กลิ่นหอมของข้าวคั่วและขิงไปด้วยกันได้ดี เช่นเดียวกันกับความเปรี้ยวของมะนาวและความหวานของโคชูจัง เมนูลาบฟิวชั่นจานนี้จึงมีเอกลักษณ์ของอาหารทั้ง 2 สัญชาติผสมกันได้อย่างลงตัว วัตถุดิบ และเครื่องปรุง เครื่องปรุงไก่ สะโพกไก่ 1 กิโลกรัม ผงลาบรสดี 1 ซอง พริกป่น 1 ช้อนโต๊ะ ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ น้ำลา 1 ช้อนโต๊ะ มะนาว 1 ช้อนโต๊ะ ใบมะกรูดซอย ผักชีลาว ซอสเกาหลี โกชูจัง 100 กรัม น้ำมันงา 10 กรัม ซอสถั่วเหลือง 30 กรัม น้ำตาล 40 กรัม ขิงแก่สับหยาบ 10 กรัม กระเทียม 10 กรัม น้ำเปล่า ½ ถ้วยตวง วิธีการทำ 1.ลอกเอาหนังไก่ออกและหั่นสะโพกไก่เป็นลูกเต๋าพอดีคำและนำไปหมักกับผงลาบ 2.ปรุงรสเพิ่มด้วย พริกป่น ข้าวคั่ว น้าปลา มะนาว และใบมะกรูดซอย คลุกให้เข้ากับตัวไก่และหมักทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที 3.เมื่อหมักได้ที่นาไก่ไปอบในอุณภูมิประมาณ 200 องศาเซลเซียส เวลาประมาณ 15 นาที แล้วนาออกมาพักให้เย็น 4.นำเครื่องปรุงและเครื่องเทศทุกอย่างผสมกัน แล้วตั้งไฟอ่อนคนให้นาตาลละลาย แล้วนามาพักให้เย็น 5.นำไก่ที่อบไว้แล้วมาย่างให้มีกลิ่นหอม พร้อมทาซอสเกาหลีบางๆ 6.ตกแต่งหน้าด้วยผักชีลาว และโรยผงข้าวคั่วนิดหน่อย ทานกับผักตามใจชอบ   ตำส้มปลาย่าง ผลไม้รสเปรี้ยวตามฤดูกาลในท้องถิ่น อย่าง มะม่วง กระท้อน ส้มโอ ตะลิงปลิง มะขามอ่อน ระดับความเปรี้ยว และความโดดเด่นของผลไม้อีสานแต่ละชนิด สร้างความหลากหลายให้กับอาหาร ตัดรสเค็มและนัวด้วยปลาร้าปลากระดี่ต้มสุก เพิ่มเนื้อสัมผัสละกลิ่นหอมด้วยปลาแห้งย่างถ่านหอมๆ เพื่อแก้เผ็ด รสชาติที่ใกล้เคียงกับตำส้มปลากรอบที่ทุกคนคุ้นเคย แต่มีความสนุกเพิ่มขึ้น ทั้งรสชาติและรสสัมผัสในอาหารจานนี้ วัตถุดิบ และเครื่องปรุง มะม่วงสับ 350 กรัม กระท้อนสับ 350 กรัม ส้มโอ 300 กรัม ผลไม้เปรี้ยวชนิดอื่นๆ แล้วแต่ความเหมาะสม น้าปลาร้าต้มสุก 150 มิลลิกรัม น้าตาลปี๊ป 10 กรัม ปลาย่างฉีก (ตามที่ต้องการ) วิธีการปรุงรส นำผลไม้เปรี้ยวทั้งสามอย่างมารวมกัน ปรุงด้วยน้ำปลาร้า และน้ำตาลปี๊ป จากนั้นนำปลากรอบลงไปคลุกพร้อมตักเสิร์ฟ . เครื่องดื่ม (Beverage) อีเกิ้ง (Mocktail) เรานำมะม่วงสุกจากมะม่วงบ้านแฮด ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชน เพิ่มรสชาติสดชื่น ด้วยน้ำเสาวรสสด และน้ำสับปะรด ทำให้เกิดความหวานละมุนอมเปรี้ยวของวัตถุดิบหลักทั้งสามชนิด เพิ่มความละมุนด้วยน้ำผึ้งดอกลำใย เป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่สดชื่นในวันที่อากาศร้อน วัตถุดิบ และเครื่องปรุง (ปริมาณโดยรวม 1 ลิตร) มะม่วง 250 กรัม น้ำร้อน 250 มิลลิลิตร น้ำผึ้ง 80 มิลลิลิตร น้ำสับปะรด 250 มิลลิลิตร น้ำเสาวรสสด 250 มิลลิลิตร วิธีการทำ 1.นำมะม่วงสุกที่ปอกเปลือกแล้ว หั่นเป็นชิ้น ปั่นร่วมกับน้ำร้อนประมาณ 90 – 100 องศาเซลเซียส 2.กรองละเอียด ให้เหลือแค่น้ำมะม่วง แล้วทิ้งให้เย็น 3.นำน้ำมะม่วง ผสมกับ น้ำสับปะรด น้ำเสาวรสสด และน้ำผึ้ง คนให้เข้ากัน 4.เครื่องดื่มพร้อมเสิร์ฟ . ซอดแจ้ง (Mocktail) สมุนไพรยอดฮิตประจำยุคโรคระบาดโควิด – 19 กระชายที่ถือว่าเป็นโสมไทยสรรพคุณมากมาย ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงร่างกายและทำให้กระชุ่มกระชวย กระชายเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ปลูกได้ง่าย ไม่ว่าจะทำอาหารคาว อาหารหวาน หรือ เครื่องดื่ม ก็สามารถทำได้มากมาย แก้วนี้ผสมผสานกับ น้ำสับปะรด และน้ำผึ้งออแกนิก เพื่อเพิ่มความหวานละมุนมากขึ้น ทำให้ดื่มง่าย สดชื่น กระชุ่มกระชวย วัตถุดิบ และเครื่องปรุง (ปริมาณโดยรวม 1 ลิตร) กระชายขาว 150 กรัม น้ำร้อน 450 มิลลิลิตร น้ำมะนาว 100 มิลลิลิตร น้ำเชื่อม 80 มิลลิลิตร น้ำผึ้ง 80 มิลลิลิตร น้ำสับปะรด 250 มิลลิลิตร วิธีการทำ 1. นำกระขาวที่ล้างน้ำสะอาด และหั่นเป็นชิ้น ปั่นร่วมกับน้ำร้อนประมาณ 90 – 100 องศาเซลเซียส 2. กรองกากกระชายขาว ให้เหลือแค่น้ำกระชาย แล้วทิ้งให้เย็น 3. นำน้ำกระชายที่เย็นแล้ว ผสมกับ น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง และน้ำสับปะรด ที่เตรียมไว้ จากนั้นคนให้เข้ากัน 4. เติมน้ำมะนาวที่เตรียมไว้ลงไป แล้วคนให้เข้ากัน หากเปรี้ยวไม่พอ ให้เติมเพิ่มได้ 5. เครื่องดื่มพร้อมเสิร์ฟ

Isan Creative Festival 2021 Business Matching

Connect by CEA ขอเชิญร่วมงานจับคู่ทางธุรกิจ Isan Creative Festival 2021 Business Matching พบกับผู้ประกอบการชั้นนำจากภาคอีสาน ทั้งทางด้านอาหาร (Gastronomy) งานฝีมือและการออกแบบ (Craft & Design) จนถึงความบันเทิง (Entertainment) ที่ถูกคัดสรรแล้วมากมาย . ดาวน์โหลด E-Catalogue ที่รวบรวมผู้ประกอบการ นักสร้างสรรค์ สินค้า และศิลปินชาวอีสาน จาก Google Drive นี้ https://drive.google.com/…/1-2fyaYMCytLWaQguH5RNpzWimeK… . ทำการนัดหมายประชุมธุรกิจกับผู้ประกอบการหรือศิลปินที่ท่านสนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันนี้ผ่านทาง isanbusinessmatching@gmail.com หรือ Line Official: @isanmatching https://lin.ee/rJVZbmC หรือโทร 085-159-1841 (ริต้า) . การเจรจาธุรกิจจะจัดผ่านระบบ Zoom Conference หรือระบบอื่นตามความเหมาะสม ในระหว่างวันที่ 9-15 มิถุนายนนี้ . หมายเหตุ: Connect by CEA ขอมอบของที่ระลึกจากภาคอีสาน สำหรับท่านที่ตอบรับร่วมการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการในรายชื่อตาม E-Catalogue ผ่านทางโครงการ เฉพาะ 50 ท่านแรกเท่านั้น ————————————————————————  

ISANCF2021 FAQS

ISANCF2021 FAQS ตอบข้อสงสัยการเข้าชมงานโชว์เคสและนิทรรศการ เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 9 July – 15 August 2021 . Q: สถานการณ์ COVID-19 แบบนี้ ยังมีการจัดงานอยู่หรือไม่ ? A: เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 (ISANCF2021) มีขึ้นระหว่างวันที่ 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 ใน 2 พื้นที่หลัก คือ 1. ย่านศรีจันทร์ 2. TCDC ขอนแก่น – ย่านกังสดาล สามารถเข้าชมงานได้ระหว่าง 11.00 น. – 20.00 น. . Q: ยังมีการจัดโปรแกรมทั้งหมดตามกำหนดการเดิม หรือไม่ ? A: เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 เทศกาลฯ จึงได้ยกเลิกบางโปรแกรมที่คาดว่าจะมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก หรือจัดในพื้นที่เสี่ยง เช่น คอนเสิร์ต การแสดง และการฉายหนังกลางแปลง โดยโปรแกรมที่ยกเลิกไป ได้แก่ “Music” – คอนเสิร์ต : เล่นใหญ่ไฟกระพริบ ณ สถานีขนส่งปรับอากาศจังหวัดขอนแก่น – คอนเสิร์ต: ผู้บ่าวสาวซำน้อย ณ M Space by Charm – Gig in the city : Various Places – Quiet City : ณ สถานีขนส่งปรับอากาศจังหวัดขอนแก่น – Surprise Bus : Various Places “Workshop” – Isan Dubbing: Workshop (เวิร์คช๊อปพากย์หนังอีสาน) ณ Jump space “Event” “Venue” – นาตาเพชร x ลาบเสียบ ณ ที่จอดรถโรงแรมแกรนด์โฮเต็ล – แอลกอฮอลล์ในเพลง ณ Wet gallery inside and outside – Isan Dubbing: Film screening (ฉายหนังพากย์อีสาน) ณ ที่จอดรถโรงแรมแกรนด์โฮเต็ล – Scary Movie Screening (หนังผีกลางเเปง) ณ ที่จอดรถโรงแรมแกรนด์โฮเต็ล – CCCL Film tour 2021 ณ D-Kak Market – .Limited night bar ณ .limited . Q: จะมาเที่ยวชมงานเทศกาลฯ อย่างมั่นใจได้อย่างไร ? A: เพื่อความปลอดภัยในการเข้าร่วมงาน เทศกาลฯ ได้มีมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ ศบค. กำหนดอย่างเข้มงวด มีการประสานข้อมูลกับหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นอย่างต่อเนื่อง และเทศกาล ISANCF2021 ยังได้รับการรับรองภายใต้มาตรฐาน SHA ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ . ทั้งนี้ เทศกาลฯ การเข้าชมเทศกาลฯ . 1. Check In & Check Out เทศกาลฯ ได้ตั้งจุดลงทะเบียน/ จุดคัดกรอง เพื่อ Check in เข้าพื้นที่ โดยการสแกน QR Code ผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะ และ Check out เมื่อออกนอกพื้นที่ . 2. Temperature check ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าเทศกาลฯ โดยไม่อนุญาตให้เข้าหากมีอุณหภูมิสูงเกิน 37.5 C และแนะนำให้ไปพบแพทย์ . 3. Limit Visitors Number เทศกาลฯ มีการจำกัดจำนวนคนเข้าร่วมชมนิทรรศการและการจัดแสดงในแต่ละรอบ . 4. Masks are a must and keep clean สวมหน้ากากอนามัยตลอดการเยี่ยมชมงาน และล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ โดยเทศกาลฯ มีหน้ากากอนามัยแจก และมีจุดตั้งเจลแอลกอฮอล์กระจายอยู่หลายพื้นที่ . 5. Social Distancing มาตรการเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ระหว่างการเข้าชมงาน . 6. Clean and disinfect เทศกาลฯ ได้จัดทำความสะอาดบริเวณพื้นที่จุดสัมผัส ทุก 1 ชั่วโมง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ . 7. UV-C Sterilizer เทศกาลฯ ได้ติดตั้งเครื่องฆ่าเชื้อโรคด้วยรังสี UV-C ในพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ . 8. Closely Monitor the Situation & Co-operate with Government Agencies เทศกาลฯ ได้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างใกล้ชิด และประสานข้อมูลกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ . เตรียมติดตั้ง Crowd Check ลดความเสี่ยงคนหนาแน่น . เทศกาลฯ เตรียมติดตั้ง “คราวด์เช็ค” (Crowd Check) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ข้อมูลความหนาแน่นของการใช้งานพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยลดความกังวลและความเสี่ยงในการใช้งานพื้นที่สาธารณะร่วมกับคนหมู่มาก โดยออกแบบระบบให้ข้อมูลสะท้อนความเป็นจริง เปิดเผยข้อมูลให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม และรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยใช้วิธีการจับสัญญาณบลูทูธแบบเรียลไทม์ และวิเคราะห์จำนวนคนสัมพันธ์กับความจุของสถานที่นั้น ๆ แล้วแสดงผลผ่านเวปไซต์ โดยจะติดตั้งระบบ Crowd Check ให้พร้อมสำหรับช่วงเทศกาลแบบ Full Scale ที่จะมีกิจกรรมครบถ้วนทั้งหมดของงาน ISANCF2021 ระหว่างวันที่ 6 – 15 ส.ค. นี้ . Q: มีพื้นที่จัดแสดงงาน Showcase & Exhibition ที่ไหนบ้าง ? ISANCF2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 เวลา 11.00 – 20.00 น. โดยประมาณ โดยเปิดให้เข้าชมงานนิทรรศการและการจัดแสดง ใน 2 ย่านหลัก คือ ศรีจันทร์ และ กังสดาล . Showcase & Exhibition ย่านกังสดาล . TCDC ขอนแก่น – สามัญประจำบ้าน 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 – ISANCF 2021 Teaser Booth 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 – Creative Business Center 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 – Lunch and Learn Project 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 (นิทรรศการเคลื่อนที่) – Somtam Decoded Exhibition 30 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 – Professional showcase 30 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 – Student showcase 30 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 – Master Weavers of Isan 6 – 15 ส.ค. 2564 & Modern Mudmee Exhibition M Space by Charm – ตลาด D-Kak Market 6 – 15 ส.ค. 2564 และกิจกรรม DIY Workshop ย่านกังสดาล และบริเวณหน้า TCDC ขอนแก่น – กังสดาลย่านเดินเท้า 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 (Kungsadan Walkable Project) ถนนอดุลยาราม ซอย 1/3 (ตรงข้าม Eights A Day x Adulyaram) – อีเกิ้ง เกิ้งเก๋อ (ISAN Graffiti 3) 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 —————- Showcase & Exhibition ย่านศรีจันทร์ 1502 Srichan Creative Sharing Space – Gathering for Growth (ลงแขก) 6 – 15 ส.ค. 2564 หลังบ้านรวมทวีขอนแก่น (Ruamthavee Khon Kaen) – นิทรรศการเมืองของฉัน 6 – 15 ส.ค. 2564 – Srichan Creative District Exhibition 6 – 15 ส.ค. 2564 อาคารไทยพิพัฒน์ฮาร์ดแวร์ จำกัด (Thaipipat Hardware Building) – Weaving Factory: โฮงทอ โฮงถัก ฮักถิ่น 6 – 15 ส.ค. 2564 ตลาดบางลำภู ขอนแก่น (Banglampoo Khon Kaen) – Srichan Through Food Exhibition 6 – 15 ส.ค. 2564 สถานีขนส่งปรับอากาศจังหวัดขอนแก่น – GOOD DESIGN AWARD 2020 30 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 – DEmark 2020 30 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 – The Beauty of Things Past, Taiwan Designers’ Week 30 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 – หลังฮ่าน Hidden Life Behind the Show 30 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 โรงแรมแกรนด์โฮเต็ล (Grand Hotel) – Molam Bar Installation 6 – 15 ส.ค. 2564 Rak An Coffee/ .limited – Wonder Waste! 30 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 The Wall – อีสานกางมุ้ง 30 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 ร้านน้ำเต้าหู้ 100 ปี – หล่าน้อย ฮอยฮูป (ISAN Graffiti 1) 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 โกดังร้านสินไทยพาณิชย์ – โอ้เฮาโอ (ISAN Graffiti 2) 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 ย่านศรีจันทร์ – Srichan Makeover 30 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 —————————— Q: อยากทราบเวลาเข้าชมงานแต่ละที่ ดูข้อมูลอัพเดตจากที่ไหนได้บ้าง ? A: ผู้เข้าร่วมสามารถเช็คข้อมูลและเงื่อนไขการเข้าชมโชว์เคสและนิทรรศการ ในแต่ละพื้นที่ได้ด้วยตนเองง่ายๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารหลักของเทศกาลฯ www.isancreativefestival.com FB : isancreativefestival IG : @isancreativefestival Line: @isancf #ISANCF2021 #VisitorGuides #เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ #อีสานสร้างสรรค์ #isancreativefestiva      

ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน

ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน: บ้านหนองส่าน อ.ภูพาน จ.สกลนคร เที่ยวจัดเต็มในหนึ่งวัน ไปยังชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน ต.โคกภู อ.ภูพาน จ.สกลนคร หมู่บ้านแห่งนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นชุมชนไทญ้อที่ยังคงวิถีชีวิตการเกษตร และมีฝีมืองานทอผ้าย้อมครามอันน่าหลงใหล ท่องเที่ยวบ้านหนองส่านครั้งนี้จะพาทุกคนไปลองทำกิจกรรมเกษตรตามฤดูกาล ลองย้อมผ้าครามให้ตัวเองสักผืน ปิดท้ายด้วยกิจกรรม “มีแฮง” กับการนวดแผนไทยให้ร่างกายได้ฟื้นฟูสดชื่นก่อนกลับ แพ็กเกจนี้ท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองส่าน จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อ Isan Creative Festival 2021 งานนี้เท่านั้น รายละเอียดท่องเที่ยว One day trip มีดังนี้ 10.00 เดินทางถึงชุมชนบ้านหนองส่าน หมู่บ้านบนภูเขาของ “ชาวญ้อ ไทภู” (ชาวญ้อที่อาศัยอยู่บนภูเขา) ภูมิอากาศของบริเวณพื้นที่บ้านหนองส่านเย็นสบายตลอดปี และมีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่สมบูรณ์ 10.15 เดินทางไปทำกิจกรรม local food ที่สวนเกษตร เพื่อเก็บผักปลอดสารพิษ และทำอาหารร่วมกัน ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม อยู่ในช่วงฤดูดำนา นักท่องเที่ยวก็จะมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมดำนา และ หากไปเยือนบ้านหนองส่านในช่วงฤดูเกี่ยวข้าว ก็จะได้สัมผัสคมเคียว แล้วลุยเกี่ยวข้าวดูสักครั้ง กิจกรรมการเกษตรที่นักท่องเที่ยวจะได้ทำ จะอิงกับวิถีชีวิตโดยปกติของคนในชุมชน 12.00 ถึงเวลามื้อเที่ยง ก็ร่วมกันทานข้าวเที่ยงแบบอีสาน 13.30 เดินทางกลับเข้าหมู่บ้านเพื่อทำกิจกรรมเวิร์คช็อปผ้าย้อมคราม ผ้ามัดย้อมที่ได้ลงมือทำจะเป็นของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นงานฝีมือของตัวเองกันคนละ 1 ผืน 15.00 ลุยกิจกรรมมาทั้งวัน ก็ถึงเวลารีเฟรชร่างกายให้ผ่อนคลายกับ นวดสมุนไพรแบบ”มีแฮง ทริป” ในบรรยากาศสดชื่นลมเย็นสบายของสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านหนองส่าาน ให้ร่างกายจากความเหนื่อยล้าและเติมเต็มชีวิตชีวาก่อนกลับ 15.30 บอกลาบ้านหนองส่าน พร้อมของที่ระลึกอันสวยงามจากภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่ฝีมือของเราเอง . ค่าใช้จ่าย 1,500 บาทต่อคน พิเศษ ลงทะเบียนจองแพ็กเกจในช่วง ISANCF 2021 รับทันที ส่วนลด 100 บาท (จำกัด 30 สิทธิ์) *เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 สามารถลงทะเบียนจองแพ็กเกจ และรับส่วนลด โดยไม่มีวันหมดอายุ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น Link for Register: CONTACT: Tel: (062) 428 2247 – คุณหมิว Facebook: CBT Ban Nongsan ชุมชนท่องเที่ยวบ้านหนองส่าน

“มนต์รักเพลงอีสาน..บ้านขี้เหล็กใหญ่”

“มนต์รักเพลงอีสาน..บ้านขี้เหล็กใหญ่”: บ้านขี้เหล็กใหญ่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ท่ามกลางแสงแดดจ้า ข้าวในแปลงนาเขียวชะอุ่ม แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินลุ่มน้ำบ้านขี้เหล็กใหญ่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ พอขึ้นจากไร่นา ดนตรีคือการละเล่นความบันเทิงในสายเลือดของคนหมู่บ้านนี้ เสียงแคน เสียงพิณ และเสียงกลอง สอดประสานกันในท่วงทำนองหมอลำอีสาน ผู้คนที่นี่..ชุมชนแห่งนี้..คือ หมู่บ้านที่มีดนตรีอีสานอยู่ในสายธารชีวิตสืบมาจากรุ่นสู่รุ่น และคุณอาจได้พบเห็นภาพเหล่านี้หากได้มาเยือน… วันนี้ CEA ขอนแก่น ขอพาทุกคนไปรู้จัก “วิถีดนตรีอีสาน บ้านขี้เหล็กใหญ่” เข้าไปเรียนรู้วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนที่นี่คลอเสียงดนตรีพื้นบ้านอีสาน ถึงหมู่บ้านหมอแคนในตำนานแห่งเมืองพญาแล “บ้านขี้เหล็กใหญ่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ” ชุมชนละแวกศาลเจ้าพ่อพญาแล สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองชัยภูมิ ไปฝึกตีกลองเส็ง กลองแข่งขันประกวดมาแต่โบราณ ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ปราชญ์ชาวบ้าน พ่อครูแคนแห่งวงแคนยาว หนึ่งเดียวในประเทศไทย และได้ลองเวิร์คช็อปทำอาหารอีสานและลิ้มลองรสชาติ “แกงขี้เหล็ก” และ “ข้าวลอย” วัตถุดิบอาหารพื้นถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ให้ทุกคนได้ลองสัมผัสวิถีชีวิตหมอแคนสักครั้ง ให้ม่วนใจไม่รู้ลืม HIGHLIGHT OF THE TRIP จุดนัดพบของทริปนี้ เริ่มต้นที่ “วัดบริบูรณ์” วัดประจำหมู่บ้านของบ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ วัดแห่งนี้มีการอนุรักษ์กลองเพล อายุมากกว่า 200 ปี โดยที่ยังมีการใช้งานจริง และชาวบ้านยังบูรณะกลองโบราณนี้สืบเนื่องมาโดยไม่ขาด ซึ่งเป็นการสืบสานวิธีการทำกลองตามแบบโบราณที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และที่ลานวัดบริบูรณ์ บ้านขี้เหล็กใหญ่นี้เอง คือ จุดรวมตัวของผู้สืบสานอนุรักษ์กลองโบราณ มาทำความรู้จักกับ “กลองเส็ง” เครื่องดนตรีชิ้นใหญ่ เสียงกึกก้อง และฟังเรื่องเล่าจากปราชญ์กลองของชุมชน ก่อนจะปิดท้ายด้วยการสาธิต “แข่งขันตีกลองเส็ง” ในอดีต การแข่งขันประชันความดังของกองเส็ง จะวัดจากแรงกระเพื่อมของเสียงที่พัดพาขันน้ำในการประชันของกลองสองฝั่ง ซึ่งในปัจจุบันการแข่งขันกลองเส็งจะเป็นที่รู้จักเฉพาะในหมู่บ้านที่ยังอนุรักษ์อยู่เท่านั้น และใช้เครื่องวัดเดซิเบลแบบดิจิตอลในการประชันแข่งขันแทนขันน้ำที่เราได้เห็นเป็นบุญตาจากทริปนี้ จากวัดประจำหมู่บ้าน มาสู่ร้านกาแฟเล็กๆกลางชุมชน แต่รู้ใครเล่าจะรู้ว่าร้านกาแฟเล็กๆในหมู่บ้านแห่งนี้ คือบ้านของ “ครูลุน” ตำนานครูแคนแห่งบ้านขี้เหล็กใหญ่ ครูดนตรีสากลที่เอาหลักการเรื่องโน๊ตเพลงมาใช้สอนผู้คนเล่นเครื่องดนตรีอีสาน แม้ครูลุนจะจากไปแล้ว แต่สายเลือดนักดนตรียังถูกถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานแทบไม่น่าเชื่อว่า เพียงแค่แวะดื่มกาแฟเย็นๆในร้านเล็กๆของหมู่บ้าน ก็ได้ฟังเพลงแคนอีสานจากหมอแคนระดับครู ใกล้เที่ยงแล้วก็ถึงเวลาของมื้ออาหาร ชาวบ้านในชุมชนพาเก็บวัตถุดิบท้องถิ่นอย่าง “ยอดผักขี้เหล็ก” ต้นไม้อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “ขี้เหล็กใหญ่” ร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปทำอาหารจากวัตถุดิบตามฤดูกาล ช่วงนี้หน้าฝน อีสานมีหน่อไม้ให้กินเยอะมาก และเมนูเด็ดของฤดูกาลนี้ก็คือ “หมกหน่อไม้”  นอกจากได้ลิ้มลองแกงขี้เหล็กและหมกหน่อไม้ เมนูกับข้าวพื้นถิ่นของที่นี่แล้ว ผู้ร่วมทริปยังจะได้ชิมรสชาติและรู้จัก “ข้าวลอย” ข้าวพันธุ์พื้นถิ่นจากแปลงนาของคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ ซึ่งมีคุณประโยชน์สูงและน้ำตาลน้อย เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มาของชื่อข้าวลอยนั้น มาจากลักษณะพิเศษระหว่างการเจริญเติบโตของข้าวชนิดนี้ เพราะพันธุ์ข้าวลอยสามารถยืดปล้องขึ้น และชูรวงข้าวลอยหนีน้ำ ที่มักท่วมขังสูงในทุ่งนาแถบนี้ . นอกจากมื้ออาหารกลางวันแสนอร่อยแล้ว ยังได้ฟังเพลงเพราะๆ จากวงดนตรีของชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่ที่รวมตัวกันเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนโดยเฉพาะ   อิ่มหนำจากมื้อเที่ยงแล้ว ก็ถึงคิวของ “แคนยาว” แคนที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวมากถึง 3.5 เมตร ซึ่งแคนยาวนี้มีเต้าเป่าที่แตกต่างกัน ทั้งแบบ 1 เต้า, 2 เต้า และมากสุดคือ 3 เต้า ซึ่งต้องใช้คนเป่าพร้อมกัน 3 คน . แคนยาวถูกคิดค้นขึ้นเป็นภูมิปัญญาของชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่แห่งนี้โดยเฉพาะ และมีการก่อตั้ง “วงแคนยาว” ขึ้น ทำให้วงแคนยาวกลายเป็นวงดนตรีอีสานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น สร้างชื่อเสียงให้แก่หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถึงเวลาฝากตัวเป็นศิษย์หมอแคน กับ “คุณตาสะอาด” ปราชญ์แคนแห่งวงแคนยาว บ้านขี้เหล็กใหญ่ ฟังและหัดเล่นเพลงแคน “ลายเจ้าพ่อ” ซึ่งเชื่อมโยงชุมชนแห่งนี้กับศาลเจ้าพ่อพญาแล สถานที่ศักดิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดชัยภูมิ เสียงเพลงแคนจากหมอแคนบ้านขี้เหล็กใหญ่ เป็นหนึ่งในเครื่องไหว้สักการะ“เจ้าพ่อพญาแล” ซึ่งมีมาเนิ่นนาน ตั้งแต่อดีตรุ่นปู่ย่าตาทวด สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งท้ายทริปด้วยการไปสักการะ เจ้าพ่อพญาแล และลองแสดงเพลงแคนบูชาขอพรจากเจ้าพ่อ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต สนใจเข้าไปสัมผัส “วิถีชุมชนดนตรีอีสาน บ้านขี้เหล็กใหญ่” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/farmhoodiy หรือ โทร 086-602-6366 คุณเต้าหู้ ผู้ประสานงานชุมชน . กำหนดการ 08.00 – 9.30 น. นัดพบที่วัดบริบูรณ์ สักการะหลวงปู่เผือกและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัด ฟังเรื่องเล่าประวัติความเป็นมาของชุมชน และเรียนรู้เรื่อง “กลองเส็ง” 9.30 – 11.00 น. สำรวจชุมชนบ้านขี้เหล็กใหญ่ พบปราชญ์ดนตรีของชุมชน และบุกบ้าน “ครูลุน” ครูดนตรีแห่งบ้านขี้เหล็กใหญ่ พร้อมพักเบรคที่ร้านกาแฟดนตรีของทายาทครูลุน 11.00 – 13.00 น. เลาะชุมชนหาวัตถุดิบตามฤดูกาล แล้วร่วมเวิร์คช็อปทำอาหารอีสาน และทานมื้อกลางวัน พร้อมฟังดนตรีจากวงดนตรีพื้นบ้านร่วมสมัย 13.00-15.00 น. ไปรู้จักกับวงแคนยาว วงดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ชื่อดังของบ้านขี้เหล็กใหญ่ ชมแคนยาว ขนาด 3.5 เมตรที่เล่นได้จริงและยาวที่สุดในประเทศและฝากตัวเป็นลูกศิษย์หมอแคน “คุณตาสะอาด” ปราชญ์แคนที่จะมาสอนพื้นฐานการเป่าแคนให้แก่ทุกคน 15.00-16.00น. เดินทางไปสักการะศาลเจ้าพ่อ และเสาหลักเมือง จากนั้นตั้งวงเป่าแคน ถวายเจ้าพ่อ เพื่อเป็นสิริมงคล ตามความเชื่อ ความศรัทธาของชาวบ้านขี้เหล็กใหญ่และชาวชัยภูมิ – ค่าใช้จ่าย 450 บาทต่อคน – รับจำนวน 10 – 20 คน ต่อทริป *จุดนัดหมาย ศาลาการเปรียญวัดบริบูรณ์ บ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ พิกัด https://goo.gl/maps/WHGo93mp5D4qCcs8A