อัพเดทและเที่ยวชมงาน
เที่ยวชมเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 อย่างปลอดภัย
เที่ยวชมเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 อย่างปลอดภัย . เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 เริ่มแล้ว ตลอดช่วง 9 ก.ค. – 15 ส.ค. 2564 นี้ คุณสามารถเข้าร่วมชมงานในพื้นที่จัดแสดงหลักได้แก่ ย่านกังสดาล และย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น รวมถึงพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคอีสาน ที่ร่วม Creative Tour และ Open House . เพื่อความปลอดภัยในการเข้าร่วมชมเทศกาลฯ ขอความร่วมมือทุกท่านปฏิบัติตามข้อกำหนด และมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ ศบค. กำหนด . ก่อนออกเดินทางเตรียมตัวให้พร้อม เช็คข้อมูลการสำรองการเข้าชมงาน เตรียมหน้ากากอนามัย สเปรย์แอลกอฮอลล์ รวมถึงวางแผนการเดินทางก่อนเข้าร่วมชมงาน แล้วพบกัน 9 ก.ค. – 15 ส.ค. นี้ . ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่น่าสนใจได้จากเพจ Isan Creative Festival Website: isancreativefestival.com Instagram: @isancreativefestival Line@: @isancf #ISANCF2021 #VisitorGuides #เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ #อีสานสร้างสรรค์ #isancreativefestival
30 ส.ค. BBBB
Srichan Through Food
โต๊ะศรีจันทร์ ตำรับอาหารเล่าขานตำนานถิ่น ศรีจันทร์ – ย่านใหญ่ใจกลางเมืองขอนแก่นที่เป็นทั้งแหล่งเศรษฐกิจสำคัญและแหล่งรวมวัฒนธรรมไปจนถึงวิถีชีวิตน่าสนใจมากมาย ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงทำให้ย่านนี้ต้องปรับตัวไปมากมาย จากย่านเก่าแก่ทรงคุณค่ากำลังจะถูกพัฒนาให้เป็นต้นแบบย่านสร้างสรรค์ของถิ่นอีสานที่มีเอกลักษณ์ เหตุใดย่านนี้จึงมีเสน่ห์ เหตุใดย่านนี้จึงน่าหลงใหล และเหตุใดย่านนี้จึงถูกเลือกให้เป็นต้นแบบ มาลองสัมผัสเสน่ห์ศรีจันทร์ผ่านเรื่องเล่าเหล่านี้กัน การเปลี่ยนแปลงของย่านศรีจันทร์ในยุคปัจจุบันสะท้อนมุมมองความคิดจากคนในย่านได้หลากหลายรูปแบบ บางมุมมองว่าย่านนี้ดูซบเซาเงียบเหงาลงกว่าแต่ก่อนเพราะธุรกิจดั้งเดิมหลายเจ้าเริ่มทยอยปิดตัวลงไป อีกมุมก็มองว่าย่านกำลังเติบโตสู่ยุคสมัยใหม่เพราะเต็มไปการสร้างสรรค์ธุรกิจจากคนรุ่นหลังที่เปลี่ยนโฉมย่านให้น่าสนใจยิ่งขึ้น ในความเป็นจริงแล้วเสน่ห์ของย่านนี้ยังคงมีความดั้งเดิมที่ผสานกับความทันสมัยอย่างลงตัว แน่นอนว่ามีสิ่งใหม่ผุดขึ้นมากมายในขณะที่อีกหลากหลายกิจการก็ยังคงสืบสานตำนานส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน “นิทรรศการโต๊ะศรีจันทร์ (Srichan Through Food Exhibition)” คือนิทรรศการที่จัดขึ้นช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 (Isan Creative Festival 2021) เนื้อหาของนิทรรศการเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ของย่านศรีจันทร์ ผ่านตำรับอาหารและวิถีท้องถิ่นภายใต้แนวคิดหลักอย่าง “โต๊ะ” ที่ไม่ได้หมายถึงโต๊ะอาหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังรวมถึงความหมายมิติอื่นๆ อย่างการรวมกลุ่มกันของผู้คน วงสนทนา หุ้นส่วน ไปจนถึงการร่วมมือกันของชุมชนอีกด้วย แต่ละ “โต๊ะ” ถูกถ่ายทอดให้เป็นเรื่องราวเล่าขานในแง่มุมต่างๆ ที่น่าสนใจ 8 ชุด แต่ละเรื่องจะน่าหลงใหลเพียงไหน คงต้องลองมาติดตามกันดู ศรีจันทร์วันวาน: จากอดีตถึงปัจจุบันมีเรื่องราวของย่านที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย จากยุคที่ย่านเคยรุ่งเรืองกำลังกลายเป็นย่านที่ซบเซาลงเรื่อยๆ หลายร้านค้าดั้งเดิมเริ่มจากหายไป หลายกิจการเก่าแก่ต้องทยอยปิดตัวลง แต่สิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณแห่งการถดถอยของย่านนี้จริงหรือ? อนาคตย่านสร้างสรรค์: จากปัจจุบันสู่อนาคต หลากหลายเรื่องราวกำลังจะถูกเล่าขานตำนานใหม่ คนรุ่นใหม่ของขอนแก่นกำลังกลับมาช่วยกันพัฒนาธุรกิจย่านในรูปโฉมใหม่ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ตลอดจนไอเดียธุรกิจที่น่าสนใจผลักดันให้กิจการประสบความสำเร็จในยุคนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นความหวังแห่งอนาคตของย่านหรือเปล่า หรือเป็นสิ่งที่ทำให้ย่านเปลี่ยนเสน่ห์ไปจากเดิม นี่อาจเป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังตั้งคำถามสำหรับอนาคตของย่านศรีจันทร์ร่วมกัน ช่วงเวลาของผองเพื่อน: สภากาแฟในยามเช้ายังคงเป็นหนึ่งในกิจกรรมนิยมของคนทุกท้องถิ่นทั่วไทย ถึงแม้ว่าร้านรวง โต๊ะนั่ง ไปจนถึงรสชาติของเครื่องดื่มหอมกรุ่นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละที่ แต่หัวใจที่เป็นเสน่ห์สำคัญกลับเหมือนกันก็คือการพบปะพูดคุยของเพื่อนฝูงไปจนถึงคนแปลกหน้าคอเดียวกัน แล้วโต๊ะแห่งการสนทนานี้เองต่างสร้างอรรถรสให้แต่ละชุมชน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมาย ช่วงเวลาของครอบครัว: โต๊ะอาหารที่มีเสน่ห์ที่สุดอาจไม่ได้หมายถึงโต๊ะที่เต็มไปด้วยจานอร่อยเลิศรส แต่อาจหมายถึงโต๊ะที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและการสนทนาที่ออกรสก็เป็นได้ หนึ่งในอัตลักษณ์ของสังคมไทยก็คือการนั่งร่วมโต๊ะกินข้าวของครอบครัวใหญ่หลากหลายรุ่น นอกจากความอร่อยที่ปรุงรสในแบบฉบับตำรับของตนเองแล้ว บทสนทนาที่ออกรสจากมุมมองของแต่ละเจเนอเรชั่นยังถือเป็นคุณค่าอีกรูปแบบที่ทุกคนได้รับไปพร้อมกันในแต่ละมือด้วย ข้าวแกงมื้อเช้า: หนึ่งในอัตลักษณ์อาหารไทยที่มีรูปแบบเฉพาะตัวไม่เหมือนใครก็คือ “ข้าวราดแกง” นั่นเอง หลากหลายตำรับไปจนถึงสูตรอร่อยรูปแบบต่างๆ ถูกปรุงขึ้นเพื่อเป็นตัวเลือกให้เราอร่อยได้ตามชอบ ปัจจุบันข้าวราดแกงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเช้าสำหรับคนยุคนี้ที่ต้องแข่งกับเวลากันแล้ว นอกจากความสะดวกสบายเราก็ยังได้ทานอาหารหลากรสในคราวเดียวกัน รวมถึงได้รับสารอาหารที่หลากหลายไปพร้อมกันด้วย ข้าวต้มมื้อค่ำ: เมืองไทยเป็นประเทศที่ไม่เคยหลับใหลอย่างแท้จริง แทบทุกถิ่นที่สามารถหาอาหารกินได้ตลอด 24 ชม. หนึ่งในเอกลักษณ์ความอร่อยคู่มื้อค่ำไปจนถึงยามดึกที่เรารู้จักกันดีนั้นก็คือ “ข้าวต้ม” นี่ล่ะ ไมว่าจะกินกับกับข้าวสูตรไหนก็อร่อยได้เสมอ และนี่ก็คือเอกลักษณ์มื้อดึกที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน ตั้งแต่ยุคที่โรงภาพยนตร์รุ่งเรือง ตลาดโต้รุ่งคึกคัก มาจนถึงสตรีทฟู้ดเป็นที่นิยม ไหว้แขก: พบเสน่ห์แขกที่แทรกตัวอยู่ในมุมเมืองย่านศรีจันทร์ คนไทยเป็นมิตรกับทุกชนชาติเสมอ และนั่นทำให้หลายท้องถิ่นเต็มไปด้วยการผสมผสานของพหุวัฒนธรรมหลากเสน่ห์ หนึ่งในวัฒนธรรมย่อยที่ผสานอยู่ร่วมกับย่านศรีจันทร์อย่างกลมกลืนลงตัวก็คือวัฒนธรรมอินเดียที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากวัดซิกข์จะกลายเป็นหนึ่งในศาสนสถานสำคัญของย่านแล้ว ศรีจันทร์ยังคงมีธุรกิจขายผ้าของชาวซิกข์ ตลอดจนตำรับอาหารอินเดียแสนอร่อย ไปจนถึงวัฒนธรรมย่อยที่น่าสนใจอีกมากมาย ไหว้จีน: หนึ่งในพิธีกรรมที่คนไทยเชื้อสายจีนนิยมปฏิบัติเหมือนๆ กันก็คือ “การไหว้เจ้า” ประเพณีสำคัญนี้ถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาช้านาน ย่านศรีจันทร์เองก็ถือเป็นย่านการค้าที่เต็มไปด้วยคนไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก วัฒนธรรมสำคัญนี้กลายเป็นหนึ่งในวิถีแห่งย่านที่เต็มไปด้วยเสน่ห์มากมายหลากหลายมิติ นอกจากเรื่องของวัฒนธรรมแล้วการไหว้เจ้านี้ก็ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นได้ในคราวเดียวกันด้วย แล้วมิติของของไหวในแต่ละอย่างก็ยังมีเรื่องราวน่าสนใจที่ซ่อนอยู่อีกมากมายเช่นกัน
30 ส.ค. BBBB
KHON KAEN GEOPARK - PHU WIANG DISTRICT
ชวนเช็คอิน 9 จุด “ต้องห้ามพลาด!” – อำเภอภูเวียง และ เวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น โดย อุทยานธรณีขอนแก่น (Khon Kaen Geopark) และ ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA ขอนแก่น) เที่ยวสายลุยไปกับเส้นทางตามรอยตามไดโนเสาร์และสำรวจหลุมขุดค้นซากฟอสซิลกลางป่าอุทยานแห่งชาติภูเวียงร่วมเวิร์กชอป “มัดย้อมผ้าฝ้ายด้วยดินหินยุคโบราณ” ทำความรู้จักกับ “ไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์ที่ถูกพบในขอนแก่น” จากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงพร้อมสนับสนุนสินค้าและผลผลิตการเกษตรของผู้คนในชุมชน 1.อุทยานแห่งชาติภูเวียง – Phu Wiang National Park เยือน “อุทยานแห่งชาติภูเวียง” เพื่อปฐมนิเทศสู่บ้านหลังใหญ่ของเหล่าไดโนเสาร์แห่งเทือกเขาภูเวียง อันมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งอ.ภูเวียง อ.เวียงเก่า อ.สีชมพู อ.หนองนาคำ และ อ.ชุมแพ ซึ่งเส้นทางท่องเที่ยวของเราจะเน้นอยู่ในอ.ภูเวียง และอ.เวียงเก่า ไปเดินชมเส้นทางไดโนเสาร์ ฟังเรื่องเล่าจากหลุมขุดค้น ถึงการค้นพบชิ้นส่วนฟอสซิลไดโนเสาร์ นำไปสู่การค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์แรกของประเทศไทย โดยมีหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงเป็นผู้ดูแลตลอดเส้นทาง ท่ามกลางผืนป่าและเทือกเขาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงแห่งนี้ คือ บริเวณพื้นที่ที่มีการขุดค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์มากถึง 5 สายพันธุ์ ซึ่งทางอุทยานเป็นผู้ดูแลหลุมขุดค้นรวมไปถึงเส้นทางเดินป่าสู่หลุมขุดค้นจุดต่างๆ ให้ง่ายแก่การเดินทางมาศึกษาธรรมชาติให้แก่นักสำรวจไดโนเสาร์ทุกคน 2.พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง – Phu Wiang Dinosaur Museum ตะลุยป่าไปตามหลุมขุดค้นจุดต่างๆกันมาแล้ว ก็มาสู่พื้นที่นิทรรศการ จัดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์กันที่ “พิพิธภัณ์ไดโนเสาร์ภูเวียง” ที่นี่มีการจัดนิทรรศการเล่าเรื่องตั้งแต่กำเนิดไดโนเสาร์ ช่วงเวลายุคต่างๆที่โลกยังมีไดโนเสาร์ ก่อนจะนำไปการสูญพันธ์ในเวลาต่อมา และการค้นพบไดโนเสาร์ตามพื้นที่ต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่เริ่มต้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงนั่นเอง และมีการจัดแสดงห้องปฏิบัติการบรรพชีววิทยาให้ได้ตื่นตาตื่นใจไปด้วย มาทำความรู้จักกับไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์ ที่ถูกค้นพบในขอนแก่น ได้แก่ 1.ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus Sirindhornae) ไดโนเสาร์กินพืช เดิน 4 เท้า ความยาวประมาณ 15-20 เมตร คอและหางยาว มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน “สิรินธรเน” เป็นชื่อชนิดของไดโนเสาร์ ตั้งขึ้นเพื่อถวายพรเกียรติแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยในงานด้านบรรพชีวินวิทยาอย่างมาก 2.กินรีไมมัส ขอนแก่นเอสซิส (Kinnareemimus Khonkaennsis) ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ วิ่งเร็ว ปราดเปรียว ไม่มีฟัน ความยาวประมาณ 1-2 เมตร กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้นเมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน 3.สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิล (Siamotyrannus Isanensis) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ เดิน 2 เท้า ความยาวประมาณ 6.5 เมตร มีขาหลังที่ใหญ่และแข็งแรง มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน 4.สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus Suteethorni) เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ชนิดแรกที่พบในประเทศไทย เดิน 2 เท้า ความยาวประมาณ 7 เมตร ฟันมีลักษณะเป็นทรงกรวย มีแนวร่องและสันเรียงสลับตลอดคล้ายฟันของจระเข้ มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว 5. ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมี (Phuwiangvenator Yaemniyomi) ไดโนเสาร์ประเภทกินเนื้อ ขนาดลำตัวยาว ราว 5-6 เมตร วิ่งเร็ว กรงเล็บใหญ่ กะโหลกเรียว นับเป็นไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลก อายุประมาณ 130 ล้านปี หากอยากทราบรายละเอียดของไดโนเสาร์แต่ละสายพันธุ์ และเห็นไดโนเสาร์ขนาดจริงตรงหน้า ต้องไปเยือน พิพิธภัณ์ไดโนเสาร์ภูเวียงเท่านั้น! 3.ขนมจีนเส้นสด – Fresh rice noodles “ขนมจีนเส้นสด” ร้านขนมจีนและส้มตำสุดแซ่บเป็นที่รู้จักกันดีของคนในละแวกอำเภอเวียงเก่า และใครที่ผ่านเส้นทางสู่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จะต้องสังเกตเห็นร้านส้มตำที่ประดับประดาด้วยธุงแมงมุมอันวิจิตรงดงาม เอกลักษณ์หนึ่งของงานศิลปะอีสาน นอกจากโดดเด่นด้วยการตกแต่งร้าน ส้มตำ และ ขนมจีนของที่นี่ไม่เป็นสองรองใครแน่นอน หากได้มาเยือนพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ต้องได้ลิ้มรส ขนมจีนเส้นสด และ ตำแซ่บสะเดิด ในเมนู “ตำมั่ว” ของร้าน การันตีความแซ่บเลย 4.ตึกเหลือง โรงเรียนภูเวียงวิทยายน – Yellow buildings, Phu Wiang Wittayayon School โรงเรียนภูเวียงวิทยายน โรงเรียนเก่าแก่อายุ 120 ปี โรงเรียนแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่5 จากนโยบายส่งเสริมให้ประชาชาชนได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางและในปี พ.ศ. 2441นั้นเอง “พระศรีทรงไชย” เจ้าเมืองภูเวียง จึงริเริ่มให้มีการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในฐานะที่เมืองภูเวียงเป็นหัวเมืองสำคัญ ปัจจุบันพื้นที่ของเมืองภูเวียงคือ อ.ภูเวียง และ อ.เวียงเก่า ซึ่งตึกเหลืองของโรงเรียนภูเวียงวิทยายนตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เวียงเก่า ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง และเป็นทางผ่านไปสู่อุทยานแห่งชาติภูเวียงเช่นกัน ต่อมาในปี พ.ศ.2468 ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้น “อำมาตย์เอกพระยาบริหารราชการอาณาเขต (ยิ้ม นีละโยธิน)” ได้ของบประมาณจากทางราชการมาก่อสร้างอาคารเรียน จึงมีการก่อสร้าง อาคาร 1 ชั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ตัวอาคารก่อด้วยอิฐโบกปูนทาด้วยสีเหลือง สีของอาคารนี้เองที่ทำให้ชาวภูเวียงรู้จักที่นี่ในชื่อว่า “ตึกเหลือง” ตึกเหลืองใช้เวลาในการก่อสร้างร่วม 5 ปี จนแล้วเสร็จ และในปี 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าให้โรงเรียนนี้ชื่อว่า “โรงเรียนภูเวียงวิทยายน” กว่า 85 ปีแล้วที่ตึกเหลืองตั้งตระหง่านสวยงามทรงคุณค่า และทางโรงเรียนยังใช้งานตึกเหลืองแห่งนี้อยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 5.จิบกาแฟที่ร้าน “ไดโนเฟ่” และ พักผ่อนในอ้อมกอดขุนเขาที่ “โรงแรมภูอ้อมวิลล์” – Dino Cafe and Phu-om Ville Hotel หากใครกำลังมองที่พักที่สะดวกสบาย แถมหน้ารีสอร์ทก็มีคาเฟ่ที่พร้อมเสิร์ฟกาแฟแสนอร่อยให้คุณได้ทุกเมื่อ ขอแนะนำให้มาพักที่ “โรงแรมภูอ้อมวิลล์” ห้องพักของ“โรงแรมภูอ้อมวิลล์” กว้างขวาง สะอาด เป็นส่วนตัว และสะดวกสบายด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าอำนวยความสะดวกครบครัน เลือกขนาดห้องได้ตามจำนวนผู้เข้าพัก บรรยากาศของรีสอร์ทถูกห้อมล้อมด้วยแนวเขาของเทือกเขาภูเวียง อากาศเย็นสบายตลอดปี และมีสโลแกนที่อยากให้ทุกคนมาพักที่นี่ว่า “พักค้างแรมที่ภูอ้อมวิว ณ หุบเขาไดโนเสาร์ 1 คืน อายุยืน 1 ปี” ด้านหน้าของโรงแรมภูอ้อมวิลล์ มีร้านกาแฟเล็กๆน่ารัก ในชื่อ “ไดโนเฟ่” ที่พร้อมเสิร์ฟกาแฟ ขนมหวาน ไปจนถึงบิงซูให้กับผู้มาเยือนเสมอ 6.กิจกรรม “ย้อมผ้า” กับ กลุ่มทอผ้า “ผ้าฝ้ายธรณิน” – Workshop ‘Tie dyeing’ with ‘Fai Thoranin: Weaving Community Group’ เส้นผ้าฝ้ายสีโอลด์โรส โทนน้ำตาลส้ม เป็นเส้นสายใยฝ้ายอันเป็นเอกลักษณ์ของ “กลุ่มผ้าฝ้ายธรณิน” กลุ่มแม่บ้านแห่งบ้านโคกม่วง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น การรวมกลุ่มกันของกลุ่มผ้าฝ้ายธรณิน เกิดจากการสานต่องานภูมิปัญญาทอผ้าสำหรับนุ่งห่มที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ต่อยอดขึ้นอีกระดับด้วยการใช้ความรู้ด้านธรณีวิทยาจากเหล่านักสำรวจขุดค้นชั้นดินและชั้นหินในพื้นที่ภูเวียง เกิดเป็นการนำเอาดินที่ผุกร่อนจากหินทรายยุคครีเทเชียส (ประมาณ 130 ล้านปี) ซึ่งเป็นหินทรายจากยุคเดียวกับไดโนเสาร์ที่ถูกขุดพบ จากดินนั้นเองถูกมาใช้เป็นสีในการย้อมผ้า นำมาสู่ผืนผ้าที่มีอัตลักษณ์แห่งแผ่นดินภูเวียงในนาม “ผ้าฝ้ายธรณิน” กิจกรรมนี้ต้องติดต่อไปยังกลุ่มผ้าฝ้ายธรณินก่อนทุกครั้ง ทางแม่ๆจะเตรียมกิจกรรมให้ได้เรียนรู้ ที่มาที่ไปของการนำฝ้ายมาทอเป็นผืนผ้า และทำกิจกรรม DIY ย้อมผ้าด้วยสีดินจากหินยุคไดโนเสาร์เพื่อเป็นของที่ระลึกติดได้ติดมือกลับบ้าน 7.ขนมเปี๊ยะไข่ไดโนเสาร์ – Dinosaur Mung Bean Cake นอกจากของที่ระลึกอย่างผ้าฝ้ายสีดินของกลุ่มผ้าฝ้ายธรณินแล้ว หากใครกำลังมองหาของฝากติดมือกลับบ้าน ก็อยากจะแนะนำให้ได้ช็อป “ขนมเปี๊ยะไข่ไดโนเสาร์” ผลิตภัณฑ์ขนมจากความคิดสร้างสรรค์ของคนในเวียงเก่าที่ต้องการสร้างเอกลักษณ์ ด้วยการทำขนมเปี๊ยะด้วยแนวคิดที่เชื่อมโยงกับไดโนเสาร์ โดย 5 รสของขนมเปี๊ยะ ก็จะเชื่อมโยงว่าเป็นไข่ของไดโนเสาร์ทั้ง 5 สายพันธุ์ที่ถูกค้นพบในภูเวียง 8.สวนศิลป์อินทผลัม – ‘Suan Sin Intapalum’ อินทผลัม สดๆจากสวน เป็นอีกหนึ่งของฝากจากเวียงเก่าที่ไม่ควรพลาดหากได้มาเยือนถึงถิ่นแล้ว “สวนศิลป์อินทผลัม” เป็นหนึ่งไร่ที่ปลูกอินทผลัมแล้วได้ผลผลิตดี ที่สำคัญรสชาติหวานกรอบติดใจ ผลอินทผลัมสามารถกินสดได้ มีรสชาติกรอบหวานทานเพลิน พอถูกคั้นสกัดเป็นน้ำอินทผลัมก็หอม ดื่มแล้วสดชื่น ได้พลังงานจากน้ำตาลธรรมชาติเต็มๆ นอกจากอินผลัมของสวนศิลป์อินทผลัมจะอัดแน่นไปด้วยความอร่อยที่ควรเลือกซื้อหาไปเป็นของฝาก อากาศดีๆที่นี่ก็เป็นบรรยากาศเหมาะแก่การพาคนรักมาเดินเล่นเปลี่ยนบรรยากาศอีกด้วย 9.วัดถ้ำผาเกิ้ง – Wat Tham Pha Keng Temple ก่อนออกจากพื้นที่ของภูเวียงและเวียงเก่า ก็ควรที่จะแวะไปไหว้พระ เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนกลับบ้าน กันที่ “วัดถ้ำผาเกิ้ง” วัดถ้ำผาเกิ้งเป็นสถานปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา บรรยากาศร่มรื่นสถานที่กว้างขวาง ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูเวียง มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านแผ่บารมีแห่งพระพุทธศาสนาโดยมีรูปปั้นพญานาคและเสาอโศกเคียงข้าง เพื่อให้การท่องเที่ยวครั้งนี้สมบูรณ์ และเดินทางกลับด้วยความสบายใจ การได้ไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด หากใครกำลังวางแผนอยากไปสำรวจเส้นทางไดโนเสาร์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือช่วยเหลือประสานงานสามารถติดต่อได้ที่ “อุทยานธรณีขอนแก่น (Khon Kaen Geopark)”
15 ส.ค. BBBB
คำอีสานชวนรู้ “สะออน”
#ตัวอย่างการใช้งาน #คำอีสานชวนรู้ “สะออน” (English below) #ตัวอย่างที่1 “สะออนเพิ่นเด้ ได้ผุบ่าวฮู้จักควม” (แปลว่า: อิจฉาเขาจัง มีแฟนแสนดี) #ตัวอย่างที่2 “ไทบ้านนั่นได้โรงสีใหม่ เป็นตาสะออนแท้น้อ ” (แปลว่า: หมู่บ้านนั้นได้โรงสีใหม่ น่าอิจฉาจังเลย) #ตัวอย่างที่3 “งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์คือคักหลาย สะออนผู้ได้ไปหลายเติบ” (แปลว่า: เทศกาลอีสานสร้างสรรค์สนุกมาก อิจฉาคนได้ไปงานสุดๆ) บ้านเจ้าไซ้แบบได๋ อย่าลืมเม้นท์บอกกันแหน่เด้อสู . ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมที่น่าสนใจได้จากเพจ Isan Creative Festival Website: isancreativefestival.com Facebook: isancreativefestival Instagram: @isancreativefestival Line@: @isancf #ISANCF2021 #อีสานสร้างสรรค์ #isancreativefestival
14 ส.ค. BBBB
Baan Chiang
ไปอยู่ไปกิน กับคนบ้านเชียง: Living at Ban Chiang แนะนำแผนท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน โดย วิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง ทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวแบบเที่ยวคนเดียวหรือเป็นกลุ่มขนาดเล็ก (6 คนขึ้นไป) ท่องเที่ยวชุมชน.. ไปอยู่กับ “คนบ้านเชียง” เรียนรู้ศิลปะปั้นภาชนะดินเผาลายเขียนสีจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ลองย้อมผ้าโคลนคราม ภูมิปัญญามัดย้อมผ้าอันเป็นเอกลักษณ์ ศึกษาแหล่งอารยะ “พิพิธภัณ์บ้านเชียง และ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง วัดโพธิ์ศรี” อยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน กับกิจกรรมทำอาหารพื้นถิ่นร่วมกับครอบครัวเจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์ กินอิ่ม-นอนหลับในห้องพักมาตรฐานโฮมเตย์ไทย ตื่นเช้าใส่บาตรหน้าบ้าน ก่อนจะชิมช็อปกระจายกับถนนคนเดินสายวัฒนธรรม และรับของที่ระลึกจากบ้านเชียง กลับบ้านด้วยความสุข Day 1: 10.00 น. เดินทางถึงบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี แหล่งอารยธรรมโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเข้าพักกับ “วิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง” โดยมีเจ้าของบ้านพักโฮมสเตย์รอต้อนรับนักท่องเที่ยว แล้วเก็บของสัมภาระเข้าที่พัก ภายในบ้านพักโฮมสเตย์ บ้านไม้หลังใหญ่มีชานบ้านกว้างขวาง ในรูปแบบของสถาปัตยกรรม “บ้านไทพวน” อันเป็นชาติพันธุ์ของคนบ้านเชียง 10.30 น. เดินชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง และ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง วัดโพธิ์ศรีใน” แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมโบราณ และเป็นมรดกโลก พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง วัดโพธิ์ศรีใน จัดแสดงหลุมขุดค้นจริงในรูปแบบพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง แห่งแรกของประเทศไทย หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบในพื้นที่หลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีในแสดงถึงพิธีกรรมการฝังศพรวมทั้งโบราณวัตถุต่างๆ ที่พบร่วมกับโครงกระดูก มีอายุอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ประมาณ ๕,๖๐๐-๑,๘๐๐ ปีมาแล้ว ข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกฝังร่วมกับหลุมศพตามความเชื่อของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ และถูกค้นพบมากที่สุดอย่างหนึ่งเลยก็คือ “ภาชนะหม้อดินเผา” นำมาซึ่ง “หม้อดินเผาลายเขียนสี” อันเป็นเอกลักษณ์ของงานฝีมือบ้านเชียง 11.30 น. มาร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อป ชมฝีมือการทำอาหารเมนู “ข้าวผัดข่าแจ่วหอมหวาน” จากแม่ๆของ “เฮือนอาร์ โฮมสเตย์” 12.00 น. และทานมื้อเที่ยงด้วยเมนู “ข้าวผัดแจ่วข่าหอม” และ “ซ้วนเส้น” ซึ่งทั้งสองเมนูนี้ คือ อัตลักษณ์ทางอาหารของบ้านเชียง เป็นเมนูที่สร้างสรรค์ขึ้นจากวัตถุดิบท้องถิ่นและฝีมือการทำอาหารชั้นเลิศของคนบ้านเชียง 13.00 น. หลังจากทานมื้อเที่ยงก็เริ่มเข้าสู่ช่วงงานฝีมือ โดยเริ่มจากการไปเยือน “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปั้นหม้อเขียนสี” เพื่อชมสาธิตและร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อป การปั้นหม้อ และ การเขียนสีบนภาชนะดินเผา ด้วยลายเขียนสียุคก่อนประวัติศาตร์ กิจกรรมของกลุ่มนี้จะแยกรายการเป็นรายกิจกรรม คือ หากสนใจเรื่องงานเขียนสี ลวดลายจากยุคก่อนประวัติศาสตร์ ก็สามารถแจ้งเรียนเฉพาะเรื่องนี้ แต่หากใครสนใจเรื่องงานปั้นหม้อ ก็สามารถเลือกทำกิจกรรมปั้นหม้อเท่านั้น และถ้าสนใจทั้งสองกิจกรรม ก็แจ้งเหมาไปเลย 14.30 น. ตระเวนเที่ยวเล่นในบ้านเชียงกันพอสมควรแล้ว ก็นั่งรถซาเล้งพ่วงรับลมเย็นๆ อากาศบริสุทธิ์ของชุมชนในพื้นที่ตำบลบ้านเชียง เพื่อไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง นั่นคือ บ้านดงเย็น ที่นี่มีแหล่ง “โคลนดินดำ” ซึ่งถูกนำมาปั้นหม้อ แต่นอกเหนือจากปั้นหม้อแล้ว ก็ยังมีการนำโคลนมาย้อมผ้า จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ “ผ้าย้อมโคลนคราม” นอกจากกลุ่มงานผ้าโคลนคราม ที่นี่ก็ยังมีกลุ่มงานจักรสานที่มีฝีมือชั้นยอดไม่ต่างกัน ห้ามพลาด! พักเบรคชิม “ชาข่าเขียว” และ “ขนมปาด” ของว่างขึ้นชื่อของชุมชนดงเย็น 16.30 น. กลับมาชุมชนบ้านเชียง เดินเล่นในชุมชน ก่อนจะไปชมบ้านเก่า “เฮือนไทพวน” เฮือนไทพวนที่ถูกอนุรักษ์ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์นี้ อดีตเคยเป็นพื้นที่หนึ่งที่ถูกขุดค้นและพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งครั้งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จเยี่ยมชมงานขุดค้นที่บ้านเชียง เมื่อปี พ.ศ. 2515 นั้น ทั้งสองพระองค์ได้ขึ้นไปเยี่ยมชมบ้านไทพวน และทรงชื่นชมงานสถาปัตยกรรมของบ้านไทพวนที่น่าอยู่หลังนี้ 17. 30.น. กลับไปยังบ้านพักโฮมสเตย์ เพื่อทำกิจกรรมทำอาหารร่วมกับเจ้าของบ้านโฮมเตย์ กับเมนู “ต้มไก่บ้านใส่ใบมะขามอ่อน” เริ่มจากช่วยคุณแม่เจ้าของบ้านเก็บใบชะมวง และร่วมด้วยช่วยทำถึงในครัว 18.30 น. ทานมื้อเย็นที่บ้านพักโฮมสเตย์ กับ เมนูอาหารที่มีส่วนได้ร่วมทำ Day 2: 08.00 น. ทำบุญตักบาตรร่วมกับเจ้าของบ้าน ที่หน้าบ้านพัก 08.30 น. ทานอาหารเช้า (ข้าวต้มทรงเครื่อง ผลไม้ตามฤดูกาล) 09.30 น. เดินเล่นช็อปปิ้งก่อนกลับ ณ ถนนสายวัฒนธรรม บ้านเชียง ของฝากและงานฝีมือของที่นี่ ประณีตงดงาม และเป็นเอกลักษณ์ให้คิดถึงบ้านเชียงได้เสมอ จบทริป. ค่าใช้จ่าย 3,000 บาท ต่อ คน (สำหรับกลุ่ม 5 คน) 3,000 baht/person (for a group with 5 members) ติดต่อ: 081 – 485 – 1864 (พ่อชุมพร Chompon วิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง) Facebook: วิสาหกิจชุมชนโฮมสเตย์เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมบ้านเชียง
11 ส.ค. BBBB
Sin Xay and History of ISAN
สินไซ และเรื่องเล่าขานของแดนอีสาน – Sin Xay and History of ISAN “สินไซ” คือวรรณคดีท้องถิ่นภาคพื้นอุษาคเนย์ พบหลักฐานของวรรณคดีเรื่องนี้ทั้งที่ประเทศไทย ลาว พม่า และกัมพูชา ความน่าสนใจอย่างยิ่งของ “สินไซ” คือการพบว่าคนอีสานแต่โบราณนั้นได้มีการนำเรื่องราวของสินไซไป “แต้ม” (คำว่า แต้ม เป็นภาษาถิ่นของกลุ่มวัฒนธรรมลาวในภาคอีสาน หมายถึง การวาด ส่วนคำว่า “ฮูปแต้ม” หมายถึง ภาพวาด หรือ จิตรกรรม)ไว้ตามฝอุโบสถของวัดเก่าแก่หลายแห่งทั่วภาคอีสาน คล้ายกับจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ หรือพุทธประวัติบนฝาผนังโบสถ์ของวัดโดยส่วนใหญ่ ทำให้เรื่องราวของสินไซเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อมา หากแต่น่าเสียดายว่าคนอีสานรุ่นใหม่กลับไม่ค่อยรู้จักวรรณคดีเรื่องนี้แล้วหากแต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งยังคงอนุรักษ์เรื่องราวของสินไซ และ พยายามเล่าขานบอกต่อให้มรดกทางวัฒนธรรมเรื่องนี้ยังคงอยู่สืบไป และนี่คือ แผนการเดินทางท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน จากขอนแก่น สู่มหาสารคาม เพื่อตามรอยสินไซและไปค้นพบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ในแดนดินอีสาน ไปรู้จักกับกลุ่มคนที่ทำงานเพื่ออนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะเรื่องราวของ “สินไซ” รู้จักกับสินไซ มาเริ่มทำความรู้จักกับสินไซ วรรณคดีพื้นถิ่นของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของเรากันที่ “โฮงสินไซ” ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โฮงสินไซเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับสินไซไว้หลากหลายรูปแบบ และจัดพื้นที่บ้านสวนภายใต้ร่มไม้ใหญ่อันร่มรื่นแห่งนี้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีสินไซเป็นแกนหลักของพิพิธภัณฑ์ ภายในพื้นที่โฮงสินไซ มีเคาน์เตอร์ดริปกาแฟที่อาจารย์ทรงวิทย์ใช้ในการต้อนรับผู้มาเยือนบ้านหลังนี้ และเริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวของสินไซให้แก่ผู้ที่สนใจอย่างยินดีเสมอ ชั้นบนของบ้าน มีภาพวาดลายเส้นแบบ “ฮูปแต้ม” หรือ จิตกรรมฝาผนัง ร้อยเรียงเรื่องราวของสินไซ ซึ่งปรากฎอยู่ตามผนังของ “สิม” หรืออุโบสถของวัดเก่าแก่หลายแห่งซึ่งกระจายอยู่ในแถบภาคอีสาน และในประเทศลาว โดยภาพนี้เป็นหนึ่งภาพที่สรุปเรื่องราวของสินไซว่าถูกจารึกไว้อยู่ที่วัดแห่งใดบ้าง และมีความโดดเด่นของภาพเป็นบทตอนใดในเนื้อเรื่องการผจญภัยของสินไซ ลายเส้นฮูปแต้มนั้นค่อนข้างโดนเด่นและมีเอกลักษณ์แตกต่าง เนื่องจากส่วนมากจะวาดขึ้นโดยช่างฝีมือชาวบ้าน และมีการใช้สีจากธรรมชาติตามภูมิปัญญาของช่างแต้มในสมัยนั้น และอาจารย์ทรงวิทย์ก็ยังได้รวบรวมสมุดบันทึก บทละคร บทหมอลำ รวมไปถึงหลักฐานของวรรณคดีเรื่องสินไซนี้ที่ถูกค้นพบในแบบฉบับทั้งของไทย และ ประเทศอื่นๆในภูมิภาค หากอยากเริ่มต้นทำความรู้จักวรรณคดีเรื่องสินไซแล้วล่ะก็ เราขอแนะนำให้มาเยือนบ้านของสินไซอันแสนอบอุ่นที่ชื่อว่า “โฮงสินไซ” แห่งนี้ก่อนเป็นอันดับแรกเลย ไทบ้านดงน้อย แผ่นดินอีสาน และ สินไซในหมอลำ จากขอนแก่นมุ่งหน้าออกเดินทางสู่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นระยะทางกว่า 130 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อเดินทางมายัง “บ้านดงน้อย” ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม หมู่บ้านแห่งนี้มีแพ็กเกจท่องเที่ยวชุมชน 2 วัน 1 คืน ที่จะพาทุกคนไปสัมผัสบรรยากาศบ้านๆของชุมชนอีสาน เรียนรู้ประวัติศาสตร์และอารยธรรมในแถบนี้ ก่อนจะไปพบกับสินไซตัวจริง บนฝาผนังโบสถ์ของวัดเก่าแก่ และที่สำคัญ หมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ยังยกระดับภูมิปัญญาหมอลำ ด้วยความคิดสุดสร้างสรรค์ ก่อเกิดเป็นกิจกรรมของเยาวชนและชาวบ้านในชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วมและน่าภาคภูมิใจ ไปตะลุย บ้านดงน้อย กับกิจกรรมท่องเที่ยวในแพ็กเกจกันเลย 11.00 น. เดินทางถึง บ้านดงน้อย ต.พระธาตุ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม แรกเมื่อเดินทางมาถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านในชุมชนจะนำทางลูกทัวร์ไปสักการะ “ดอนปู่ตา” ณ ป่าชุมชน เพื่อไหว้ขอพรสิ่งศักิดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ตามความเชื่อของผู้คนที่นี่ 12.00 น. ร่วมทานอาหารกลางวันร่วมกับคนในชุมชน กับเมนูอาหารพื้นถิ่นเลิศรส จัดเต็มกันมาทั้ง “ส้มตำ ไก่บ้านย่างมดแดง หลามปลา” ห้ามพลาด! เมนู “แกงหน่อไม้” จากผืนป่าไผ่ของชุมชนที่มีมากในช่วงหน้าฝน และหวานเลิศรสสดๆจากกอ 13.00 น. หลังจากทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ก็ร่วมเวิร์คช็อปทำ “สบู่ยางนา” ด้วยกรรมวิธีง่ายๆร่วมกับกลุ่มแม่บ้านของชุมชนดงน้อย พื้นที่บริเวณโดยรอบของชุมชนดงน้อย มีภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นยางนา ชาวบ้านดงน้อยอนุรักษ์และปลูกป้ายางนาเป็นจำนวนนับหมื่นต้น ภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนดงน้อยผู้คนใช้ประโยชน์จากต้นยางนาในแทบจะทุกส่วน ตั้งแต่ลำต้น เปลือกไม้ ดอก และน้ำยาง 14.30 น. จบจากกิจกรรมในร่มก็ถึงเวลาไปชมสิมโบราณ หรือ อุโบสถ ณ “วัดโพธาราม บ้านดงบัง” ห่างจากบ้านดงน้อยเป็นระยะทางราวๆ 3 กิโลเมตร ไปพบกับ “สินไซ” ตัวจริง บน “ฮูปแต้ม” จิตรกรรมฝาผนังของสิม การชมความงดงามของศิลปะช่างชาวบ้านบนผนังสิมในเรื่องราวของสินไซครั้งนี้ ทางชุมชนได้จัดเตรียมมัคคุเทศน์น้อย เยาวชนจากโรงเรียนบ้านดงบัง มาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวของวรรณคดีเรื่องนี้ที่ปรากฏในแต่ละภาพบนผนังแต่ละฝั่งของสิม นอกจากสิมโบราณที่ชาวบ้านยังมีการอนุรักษ์ไว้และใช้งานจนถึงปัจจุบันสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีกชิ้นหนึ่งของวัดโพธารามที่น่าประทับใจไม่แพ้กัน คือ หอแจก หรือ ศาลาการเปรียญหลังเก่า ซึ่งเป็นศิลปะสกุลช่างญวนจะมีส่วนผสมศิลปะจีน เวียดนาม และฝรั่งเศสกับคติศิลปะของชาวบ้านอีสาน น่าเสียดายที่โครงสร้างของศาลาการเปรียญวัดโพธาราม บ้านดงบัง หลังนี้กำลังเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา 15.30 น. ออกจากบ้านดงบัง ไปยังอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับบ้านดงน้อยเช่นกัน ก็คือ “กู่สันตรัตน์” ปราสาทหินที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือราวๆปีพ.ศ. 1700-1750 เทวรูปที่ถูกค้นพบในการขุดค้นซากโบราณสถานกู่สันรัตน์ เป็นหลักฐานชี้ชัดว่า ศาสนสถานจากยุคขอมแห่งนี้ คือ “อโรคยาศาล” หรือโรงพยาบาล ของผู้คนในยุคโบราณ ใกล้กับกู่สันตรัตน์ มีการจัดตั้ง “พิพิฑธภัณฑ์ท้องถิ่นกู่สัตรัตน์” ซึ่งดูแลโดยคนในพื้นที่ เป็นที่เก็บหลักฐานทางโบราณคดีอีกแห่งหนึ่ง นอกจากกู่สันตรัตน์แล้ว พื้นที่ของอำเภอนาดูนนั้น มีการค้นพบหลักฐานโบราณสถานที่ชี้ชัดว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณของ “นครจำปาศรี” นครเมืองในยุคโบราณนั่นเอง 17.00 น. กลับจากตระเวนไปยังสถานที่ต่างๆกับหลากหลายสถานที่ที่น่าสนใจโดยรอบชุมชนดงน้อยแล้ว ก็ได้เวลาเก็บสัมภาระเข้าพักยังบ้านพักโฮมสเตย์ของบ้านดงน้อย และพักผ่อนกินขนมแสนอร่อย ฝีมือแม่ๆในชุมชน 18.30 น. รวมตัวทานอาหารมื้อเย็นที่ศาลาการเปรียญของหมู่บ้านดงน้อย กับเมนูแนะนำ “ต้มไก่บ้าน” ครั้งแรกกับการลิ้มรส “สกอร์เปี้ยนลุยไฟ” เมนูเปิบพิสดารของหมู่บ้าน รับรองความอร่อยเกินคาด! 19.00 น. ชมการแสดง “หมอลำหุ่นกระติ๊บข้าว คณะเด็กเทวดา” ของเยาวชนและชาวบ้านในชุมชนดงน้อย ซึ่งเป็นหยิบยกเอาเรื่องราว “สินไซ” มาเรียบเรียงเป็นหมอลำที่สนุกสนานตามแบบฉบับอีสาน ปิดท้ายด้วยการให้นักท่องเที่ยวทดลองเชิดหุ่นกระติ๊บข้าว โดยเด็กๆในชุมชนเป็นคนช่วยฝึกสอน วันที่2 07.00 น. ร่วมทำบุญ ตักบาตรข้าวเหนียวที่หน้าบ้านพักโฮมสเตย์ 08.00 น. ทานอาหารเช้า และทำกิจกรรมปลูกต้นยางนา เป็นสัญลักณ์หนึ่งที่แสดงว่า ครั้งหนึ่งเคยาเยือนบ้านดงน้อยแห่งนี้ 09.00 น. เวิร์คช็อปงานประดิษฐ์หุ่นละคร จากกระติ๊บข้าวและวัสดุพื้นบ้าน 10.00 น. เจ้าของบ้านพักผูกข้อต่อแขนด้วยฝ้ายสายสิญจ์ ส่งนักท่องเที่ยวกลับบ้านอย่างอบอุ่น แวะกราบสักการะ “พระธาตุนาดูน” โบราณสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมือง อ.นาดูน และเดินทางกลับขอนแก่นโดยสวัสดิภาพ จบทริป “สินไซและเรื่องเล่าขานของแดนอีสาน” ด้วยบรรยากาศของชุมชนอีสานในปัจจุบันของบ้านดงน้อย จังหวัดมหาสารคาม
11 ส.ค. BBBB
Molam Bar Installation : Gastronomy Sector
สัมผัสความอร่อยของการยกระดับอาหารริมทางแบบอีสาน ดึงเอาเอกลักษณ์ความของแซ่บ เผ็ดร้อน หอมฉุน และนัวปลายลิ้นของอีอาหารอีสานออกมาตัดกับความหวานและความหอมของเครื่องดื่มที่หยิบจับเอาสมุนไพรท้องถิ่นเข้ามาผสมกันเป็นม็อกเทลรสชาติดี คลอไปกับบรรยากาศของเพลง การออกแบบ เสียงและแสงขับเน้นโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของสถานที่ เป็นประสบการณ์ที่ชวนให้เข้ามาสัมผัสทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง การเลือกสรรเมนูอาหารในนิทรรศการหมอลำบาร์ ล้วนมีพื้นฐานจากรสอาหารอีสานที่คุ้นตาคุ้นลิ้นของคนในท้องถิ่น รสนัวของปลาร้า เสริมทัพด้วยความเผ็ดจากพริก ตัดหวานด้วยน้ำตาล เพิ่มความหอมด้วยสมุนไพรพื้นบ้าน และจบท้ายด้วยผักกลิ่นหอมรสโดดเด่น ทำให้หนึ่งคำของแต่ละเมนูที่ได้รับประทานนั้นครบรส ครบเครื่องในหนึ่งคำ ในขณะที่เครื่องดื่มทั้ง 2 เมนูล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากการหยิบจับเอาสมุนไพรและผลไม้ในท้องถิ่นมาผสมกับความหวานของน้ำผึ้งและความสดชื่นของโซดา อาหาร (Food) หมูย่างหมักซอสปลาร้าสมุนไพร เนื้อหมู โปรตีนหลักของเมนูนำมาปรุงกับปลาร้าปลากระดี่โฮมเมดไม่ใส่สารปรุงแต่ง นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องแกงสมุนไพรอย่างอีสานที่หาได้จากพื้นถิ่นอีสานบ้านเฮา หมักและนำไปย่างถ่านจน กลายเป็น ย่างหมูหมักซอสปลาร้าสมุนไพร วัตถุดิบ และเครื่องปรุง สันคอหมู 1 กิโลกรัม ตะไคร้ 30 กร้ม พริกสด 30 กรัม ข่าแก่ 50 กรัม กระเทียม 50 กรัม หอมแดง 50 กรัม ใบมะกรูดซอย ใบชะพลู ปลาร้าตัว 200 กรัม วิธีการทำ 1.นำพริกสด ข่า กระเทียม หอมแดง ย่างไฟให้มีกลิ่นหอม แล้วโขลกให้ละเอียดพร้อมกับตะไคร้สด 2.นำปลาร้ามาปั่นให้ละเอียด แล้วผสมกับเครื่องเทศที่โขลกละเอียดไว้ 3.นำสันคอหมูมาหั่นเป็นลูกเต๋า ให้ขนาดพอดีคำ แล้วนำไปคลุกให้ทั่วกับน้ำหมักซอสปลาร้าที่เตรียมไว้ ประมาณ 15 นาที 4.เมื่อหมูหมักได้ที่ นำไปอบในอุณภูมิประมาณ 200 องศาเซลเซียส เวลาประมาณ 15 นาที 5. เมื่ออบเสร็จแล้วนำมาพักไว้ให้เย็น แล้วนำไปย่างไฟ เพื่อให้เครื่องเทศมีกลิ่นหอมมากขึ้น ทานคู่กับใบชะพลู . ลาบไก่ซอสเกาหลี เครื่องลาบอีสาน พริกป่น ข้าวคั่ว น้ำปลา มะนาว ใบมะกรูด ขึ้นชื่อเรื่องความหอมอร่อยและเรียกน้ำลายกับทุกคนได้เสมอ ผสมผสานกับกลิ่นหอมของโคชูจัง น้ำมันงา ขิง กระเทียม กลิ่นหอมของข้าวคั่วและขิงไปด้วยกันได้ดี เช่นเดียวกันกับความเปรี้ยวของมะนาวและความหวานของโคชูจัง เมนูลาบฟิวชั่นจานนี้จึงมีเอกลักษณ์ของอาหารทั้ง 2 สัญชาติผสมกันได้อย่างลงตัว วัตถุดิบ และเครื่องปรุง เครื่องปรุงไก่ สะโพกไก่ 1 กิโลกรัม ผงลาบรสดี 1 ซอง พริกป่น 1 ช้อนโต๊ะ ข้าวคั่ว 1 ช้อนโต๊ะ น้ำลา 1 ช้อนโต๊ะ มะนาว 1 ช้อนโต๊ะ ใบมะกรูดซอย ผักชีลาว ซอสเกาหลี โกชูจัง 100 กรัม น้ำมันงา 10 กรัม ซอสถั่วเหลือง 30 กรัม น้ำตาล 40 กรัม ขิงแก่สับหยาบ 10 กรัม กระเทียม 10 กรัม น้ำเปล่า ½ ถ้วยตวง วิธีการทำ 1.ลอกเอาหนังไก่ออกและหั่นสะโพกไก่เป็นลูกเต๋าพอดีคำและนำไปหมักกับผงลาบ 2.ปรุงรสเพิ่มด้วย พริกป่น ข้าวคั่ว น้าปลา มะนาว และใบมะกรูดซอย คลุกให้เข้ากับตัวไก่และหมักทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที 3.เมื่อหมักได้ที่นาไก่ไปอบในอุณภูมิประมาณ 200 องศาเซลเซียส เวลาประมาณ 15 นาที แล้วนาออกมาพักให้เย็น 4.นำเครื่องปรุงและเครื่องเทศทุกอย่างผสมกัน แล้วตั้งไฟอ่อนคนให้นาตาลละลาย แล้วนามาพักให้เย็น 5.นำไก่ที่อบไว้แล้วมาย่างให้มีกลิ่นหอม พร้อมทาซอสเกาหลีบางๆ 6.ตกแต่งหน้าด้วยผักชีลาว และโรยผงข้าวคั่วนิดหน่อย ทานกับผักตามใจชอบ ตำส้มปลาย่าง ผลไม้รสเปรี้ยวตามฤดูกาลในท้องถิ่น อย่าง มะม่วง กระท้อน ส้มโอ ตะลิงปลิง มะขามอ่อน ระดับความเปรี้ยว และความโดดเด่นของผลไม้อีสานแต่ละชนิด สร้างความหลากหลายให้กับอาหาร ตัดรสเค็มและนัวด้วยปลาร้าปลากระดี่ต้มสุก เพิ่มเนื้อสัมผัสละกลิ่นหอมด้วยปลาแห้งย่างถ่านหอมๆ เพื่อแก้เผ็ด รสชาติที่ใกล้เคียงกับตำส้มปลากรอบที่ทุกคนคุ้นเคย แต่มีความสนุกเพิ่มขึ้น ทั้งรสชาติและรสสัมผัสในอาหารจานนี้ วัตถุดิบ และเครื่องปรุง มะม่วงสับ 350 กรัม กระท้อนสับ 350 กรัม ส้มโอ 300 กรัม ผลไม้เปรี้ยวชนิดอื่นๆ แล้วแต่ความเหมาะสม น้าปลาร้าต้มสุก 150 มิลลิกรัม น้าตาลปี๊ป 10 กรัม ปลาย่างฉีก (ตามที่ต้องการ) วิธีการปรุงรส นำผลไม้เปรี้ยวทั้งสามอย่างมารวมกัน ปรุงด้วยน้ำปลาร้า และน้ำตาลปี๊ป จากนั้นนำปลากรอบลงไปคลุกพร้อมตักเสิร์ฟ . เครื่องดื่ม (Beverage) อีเกิ้ง (Mocktail) เรานำมะม่วงสุกจากมะม่วงบ้านแฮด ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชน เพิ่มรสชาติสดชื่น ด้วยน้ำเสาวรสสด และน้ำสับปะรด ทำให้เกิดความหวานละมุนอมเปรี้ยวของวัตถุดิบหลักทั้งสามชนิด เพิ่มความละมุนด้วยน้ำผึ้งดอกลำใย เป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มที่สดชื่นในวันที่อากาศร้อน วัตถุดิบ และเครื่องปรุง (ปริมาณโดยรวม 1 ลิตร) มะม่วง 250 กรัม น้ำร้อน 250 มิลลิลิตร น้ำผึ้ง 80 มิลลิลิตร น้ำสับปะรด 250 มิลลิลิตร น้ำเสาวรสสด 250 มิลลิลิตร วิธีการทำ 1.นำมะม่วงสุกที่ปอกเปลือกแล้ว หั่นเป็นชิ้น ปั่นร่วมกับน้ำร้อนประมาณ 90 – 100 องศาเซลเซียส 2.กรองละเอียด ให้เหลือแค่น้ำมะม่วง แล้วทิ้งให้เย็น 3.นำน้ำมะม่วง ผสมกับ น้ำสับปะรด น้ำเสาวรสสด และน้ำผึ้ง คนให้เข้ากัน 4.เครื่องดื่มพร้อมเสิร์ฟ . ซอดแจ้ง (Mocktail) สมุนไพรยอดฮิตประจำยุคโรคระบาดโควิด – 19 กระชายที่ถือว่าเป็นโสมไทยสรรพคุณมากมาย ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงร่างกายและทำให้กระชุ่มกระชวย กระชายเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ปลูกได้ง่าย ไม่ว่าจะทำอาหารคาว อาหารหวาน หรือ เครื่องดื่ม ก็สามารถทำได้มากมาย แก้วนี้ผสมผสานกับ น้ำสับปะรด และน้ำผึ้งออแกนิก เพื่อเพิ่มความหวานละมุนมากขึ้น ทำให้ดื่มง่าย สดชื่น กระชุ่มกระชวย วัตถุดิบ และเครื่องปรุง (ปริมาณโดยรวม 1 ลิตร) กระชายขาว 150 กรัม น้ำร้อน 450 มิลลิลิตร น้ำมะนาว 100 มิลลิลิตร น้ำเชื่อม 80 มิลลิลิตร น้ำผึ้ง 80 มิลลิลิตร น้ำสับปะรด 250 มิลลิลิตร วิธีการทำ 1. นำกระขาวที่ล้างน้ำสะอาด และหั่นเป็นชิ้น ปั่นร่วมกับน้ำร้อนประมาณ 90 – 100 องศาเซลเซียส 2. กรองกากกระชายขาว ให้เหลือแค่น้ำกระชาย แล้วทิ้งให้เย็น 3. นำน้ำกระชายที่เย็นแล้ว ผสมกับ น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง และน้ำสับปะรด ที่เตรียมไว้ จากนั้นคนให้เข้ากัน 4. เติมน้ำมะนาวที่เตรียมไว้ลงไป แล้วคนให้เข้ากัน หากเปรี้ยวไม่พอ ให้เติมเพิ่มได้ 5. เครื่องดื่มพร้อมเสิร์ฟ
06 ส.ค. BBBB
Isan Creative Festival 2021 Business Matching
Connect by CEA ขอเชิญร่วมงานจับคู่ทางธุรกิจ Isan Creative Festival 2021 Business Matching พบกับผู้ประกอบการชั้นนำจากภาคอีสาน ทั้งทางด้านอาหาร (Gastronomy) งานฝีมือและการออกแบบ (Craft & Design) จนถึงความบันเทิง (Entertainment) ที่ถูกคัดสรรแล้วมากมาย . ดาวน์โหลด E-Catalogue ที่รวบรวมผู้ประกอบการ นักสร้างสรรค์ สินค้า และศิลปินชาวอีสาน จาก Google Drive นี้ https://drive.google.com/…/1-2fyaYMCytLWaQguH5RNpzWimeK… . ทำการนัดหมายประชุมธุรกิจกับผู้ประกอบการหรือศิลปินที่ท่านสนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันนี้ผ่านทาง isanbusinessmatching@gmail.com หรือ Line Official: @isanmatching https://lin.ee/rJVZbmC หรือโทร 085-159-1841 (ริต้า) . การเจรจาธุรกิจจะจัดผ่านระบบ Zoom Conference หรือระบบอื่นตามความเหมาะสม ในระหว่างวันที่ 9-15 มิถุนายนนี้ . หมายเหตุ: Connect by CEA ขอมอบของที่ระลึกจากภาคอีสาน สำหรับท่านที่ตอบรับร่วมการเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการในรายชื่อตาม E-Catalogue ผ่านทางโครงการ เฉพาะ 50 ท่านแรกเท่านั้น ————————————————————————
06 ส.ค. BBBB