Sin Xay and History of ISAN
เผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
สินไซ และเรื่องเล่าขานของแดนอีสาน – Sin Xay and History of ISAN
“สินไซ” คือวรรณคดีท้องถิ่นภาคพื้นอุษาคเนย์ พบหลักฐานของวรรณคดีเรื่องนี้ทั้งที่ประเทศไทย ลาว พม่า และกัมพูชา ความน่าสนใจอย่างยิ่งของ “สินไซ” คือการพบว่าคนอีสานแต่โบราณนั้นได้มีการนำเรื่องราวของสินไซไป “แต้ม” (คำว่า แต้ม เป็นภาษาถิ่นของกลุ่มวัฒนธรรมลาวในภาคอีสาน หมายถึง การวาด ส่วนคำว่า “ฮูปแต้ม” หมายถึง ภาพวาด หรือ จิตรกรรม)ไว้ตามฝอุโบสถของวัดเก่าแก่หลายแห่งทั่วภาคอีสาน คล้ายกับจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ หรือพุทธประวัติบนฝาผนังโบสถ์ของวัดโดยส่วนใหญ่
ทำให้เรื่องราวของสินไซเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อมา หากแต่น่าเสียดายว่าคนอีสานรุ่นใหม่กลับไม่ค่อยรู้จักวรรณคดีเรื่องนี้แล้วหากแต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งยังคงอนุรักษ์เรื่องราวของสินไซ และ พยายามเล่าขานบอกต่อให้มรดกทางวัฒนธรรมเรื่องนี้ยังคงอยู่สืบไป
และนี่คือ แผนการเดินทางท่องเที่ยว 2 วัน 1 คืน จากขอนแก่น สู่มหาสารคาม เพื่อตามรอยสินไซและไปค้นพบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ในแดนดินอีสาน ไปรู้จักกับกลุ่มคนที่ทำงานเพื่ออนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะเรื่องราวของ “สินไซ”
รู้จักกับสินไซ
มาเริ่มทำความรู้จักกับสินไซ วรรณคดีพื้นถิ่นของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ของเรากันที่ “โฮงสินไซ” ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
โฮงสินไซเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของ ผศ.ดร.ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ ผู้เก็บรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับสินไซไว้หลากหลายรูปแบบ และจัดพื้นที่บ้านสวนภายใต้ร่มไม้ใหญ่อันร่มรื่นแห่งนี้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม โดยมีสินไซเป็นแกนหลักของพิพิธภัณฑ์
ภายในพื้นที่โฮงสินไซ มีเคาน์เตอร์ดริปกาแฟที่อาจารย์ทรงวิทย์ใช้ในการต้อนรับผู้มาเยือนบ้านหลังนี้ และเริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวของสินไซให้แก่ผู้ที่สนใจอย่างยินดีเสมอ
ชั้นบนของบ้าน มีภาพวาดลายเส้นแบบ “ฮูปแต้ม” หรือ จิตกรรมฝาผนัง ร้อยเรียงเรื่องราวของสินไซ
ซึ่งปรากฎอยู่ตามผนังของ “สิม” หรืออุโบสถของวัดเก่าแก่หลายแห่งซึ่งกระจายอยู่ในแถบภาคอีสาน และในประเทศลาว โดยภาพนี้เป็นหนึ่งภาพที่สรุปเรื่องราวของสินไซว่าถูกจารึกไว้อยู่ที่วัดแห่งใดบ้าง และมีความโดดเด่นของภาพเป็นบทตอนใดในเนื้อเรื่องการผจญภัยของสินไซ
ลายเส้นฮูปแต้มนั้นค่อนข้างโดนเด่นและมีเอกลักษณ์แตกต่าง เนื่องจากส่วนมากจะวาดขึ้นโดยช่างฝีมือชาวบ้าน และมีการใช้สีจากธรรมชาติตามภูมิปัญญาของช่างแต้มในสมัยนั้น
และอาจารย์ทรงวิทย์ก็ยังได้รวบรวมสมุดบันทึก บทละคร บทหมอลำ รวมไปถึงหลักฐานของวรรณคดีเรื่องสินไซนี้ที่ถูกค้นพบในแบบฉบับทั้งของไทย และ ประเทศอื่นๆในภูมิภาค
หากอยากเริ่มต้นทำความรู้จักวรรณคดีเรื่องสินไซแล้วล่ะก็
เราขอแนะนำให้มาเยือนบ้านของสินไซอันแสนอบอุ่นที่ชื่อว่า “โฮงสินไซ” แห่งนี้ก่อนเป็นอันดับแรกเลย
ไทบ้านดงน้อย แผ่นดินอีสาน และ สินไซในหมอลำ
จากขอนแก่นมุ่งหน้าออกเดินทางสู่อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เป็นระยะทางกว่า 130 กิโลเมตร
ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อเดินทางมายัง “บ้านดงน้อย” ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม หมู่บ้านแห่งนี้มีแพ็กเกจท่องเที่ยวชุมชน 2 วัน 1 คืน ที่จะพาทุกคนไปสัมผัสบรรยากาศบ้านๆของชุมชนอีสาน เรียนรู้ประวัติศาสตร์และอารยธรรมในแถบนี้ ก่อนจะไปพบกับสินไซตัวจริง บนฝาผนังโบสถ์ของวัดเก่าแก่ และที่สำคัญ หมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ยังยกระดับภูมิปัญญาหมอลำ ด้วยความคิดสุดสร้างสรรค์ ก่อเกิดเป็นกิจกรรมของเยาวชนและชาวบ้านในชุมชนที่ทุกคนมีส่วนร่วมและน่าภาคภูมิใจ
ไปตะลุย บ้านดงน้อย กับกิจกรรมท่องเที่ยวในแพ็กเกจกันเลย
11.00 น. เดินทางถึง บ้านดงน้อย ต.พระธาตุ อ.นาดูน จ.มหาสารคาม
แรกเมื่อเดินทางมาถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านในชุมชนจะนำทางลูกทัวร์ไปสักการะ “ดอนปู่ตา”
ณ ป่าชุมชน เพื่อไหว้ขอพรสิ่งศักิดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ตามความเชื่อของผู้คนที่นี่
12.00 น. ร่วมทานอาหารกลางวันร่วมกับคนในชุมชน กับเมนูอาหารพื้นถิ่นเลิศรส จัดเต็มกันมาทั้ง
“ส้มตำ ไก่บ้านย่างมดแดง หลามปลา”
ห้ามพลาด! เมนู “แกงหน่อไม้” จากผืนป่าไผ่ของชุมชนที่มีมากในช่วงหน้าฝน และหวานเลิศรสสดๆจากกอ
13.00 น. หลังจากทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว ก็ร่วมเวิร์คช็อปทำ “สบู่ยางนา” ด้วยกรรมวิธีง่ายๆร่วมกับกลุ่มแม่บ้านของชุมชนดงน้อย
พื้นที่บริเวณโดยรอบของชุมชนดงน้อย มีภูมิประเทศที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นยางนา
ชาวบ้านดงน้อยอนุรักษ์และปลูกป้ายางนาเป็นจำนวนนับหมื่นต้น ภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนดงน้อยผู้คนใช้ประโยชน์จากต้นยางนาในแทบจะทุกส่วน ตั้งแต่ลำต้น เปลือกไม้ ดอก และน้ำยาง
14.30 น. จบจากกิจกรรมในร่มก็ถึงเวลาไปชมสิมโบราณ หรือ อุโบสถ
ณ “วัดโพธาราม บ้านดงบัง” ห่างจากบ้านดงน้อยเป็นระยะทางราวๆ 3 กิโลเมตร
ไปพบกับ “สินไซ” ตัวจริง บน “ฮูปแต้ม” จิตรกรรมฝาผนังของสิม
การชมความงดงามของศิลปะช่างชาวบ้านบนผนังสิมในเรื่องราวของสินไซครั้งนี้
ทางชุมชนได้จัดเตรียมมัคคุเทศน์น้อย เยาวชนจากโรงเรียนบ้านดงบัง มาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวของวรรณคดีเรื่องนี้ที่ปรากฏในแต่ละภาพบนผนังแต่ละฝั่งของสิม
นอกจากสิมโบราณที่ชาวบ้านยังมีการอนุรักษ์ไว้และใช้งานจนถึงปัจจุบันสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีกชิ้นหนึ่งของวัดโพธารามที่น่าประทับใจไม่แพ้กัน คือ หอแจก หรือ ศาลาการเปรียญหลังเก่า ซึ่งเป็นศิลปะสกุลช่างญวนจะมีส่วนผสมศิลปะจีน เวียดนาม และฝรั่งเศสกับคติศิลปะของชาวบ้านอีสาน
น่าเสียดายที่โครงสร้างของศาลาการเปรียญวัดโพธาราม บ้านดงบัง หลังนี้กำลังเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา
15.30 น. ออกจากบ้านดงบัง ไปยังอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับบ้านดงน้อยเช่นกัน ก็คือ “กู่สันตรัตน์” ปราสาทหินที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือราวๆปีพ.ศ. 1700-1750
เทวรูปที่ถูกค้นพบในการขุดค้นซากโบราณสถานกู่สันรัตน์ เป็นหลักฐานชี้ชัดว่า ศาสนสถานจากยุคขอมแห่งนี้ คือ “อโรคยาศาล” หรือโรงพยาบาล ของผู้คนในยุคโบราณ
ใกล้กับกู่สันตรัตน์ มีการจัดตั้ง “พิพิฑธภัณฑ์ท้องถิ่นกู่สัตรัตน์” ซึ่งดูแลโดยคนในพื้นที่ เป็นที่เก็บหลักฐานทางโบราณคดีอีกแห่งหนึ่ง นอกจากกู่สันตรัตน์แล้ว พื้นที่ของอำเภอนาดูนนั้น มีการค้นพบหลักฐานโบราณสถานที่ชี้ชัดว่า พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณของ “นครจำปาศรี” นครเมืองในยุคโบราณนั่นเอง
17.00 น. กลับจากตระเวนไปยังสถานที่ต่างๆกับหลากหลายสถานที่ที่น่าสนใจโดยรอบชุมชนดงน้อยแล้ว ก็ได้เวลาเก็บสัมภาระเข้าพักยังบ้านพักโฮมสเตย์ของบ้านดงน้อย
และพักผ่อนกินขนมแสนอร่อย ฝีมือแม่ๆในชุมชน
18.30 น. รวมตัวทานอาหารมื้อเย็นที่ศาลาการเปรียญของหมู่บ้านดงน้อย กับเมนูแนะนำ “ต้มไก่บ้าน”
ครั้งแรกกับการลิ้มรส “สกอร์เปี้ยนลุยไฟ” เมนูเปิบพิสดารของหมู่บ้าน รับรองความอร่อยเกินคาด!
19.00 น. ชมการแสดง “หมอลำหุ่นกระติ๊บข้าว คณะเด็กเทวดา” ของเยาวชนและชาวบ้านในชุมชนดงน้อย ซึ่งเป็นหยิบยกเอาเรื่องราว “สินไซ” มาเรียบเรียงเป็นหมอลำที่สนุกสนานตามแบบฉบับอีสาน
ปิดท้ายด้วยการให้นักท่องเที่ยวทดลองเชิดหุ่นกระติ๊บข้าว โดยเด็กๆในชุมชนเป็นคนช่วยฝึกสอน
วันที่2
07.00 น. ร่วมทำบุญ ตักบาตรข้าวเหนียวที่หน้าบ้านพักโฮมสเตย์
08.00 น. ทานอาหารเช้า และทำกิจกรรมปลูกต้นยางนา เป็นสัญลักณ์หนึ่งที่แสดงว่า ครั้งหนึ่งเคยาเยือนบ้านดงน้อยแห่งนี้
09.00 น. เวิร์คช็อปงานประดิษฐ์หุ่นละคร จากกระติ๊บข้าวและวัสดุพื้นบ้าน
10.00 น. เจ้าของบ้านพักผูกข้อต่อแขนด้วยฝ้ายสายสิญจ์ ส่งนักท่องเที่ยวกลับบ้านอย่างอบอุ่น
แวะกราบสักการะ “พระธาตุนาดูน” โบราณสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านเมือง อ.นาดูน และเดินทางกลับขอนแก่นโดยสวัสดิภาพ
จบทริป “สินไซและเรื่องเล่าขานของแดนอีสาน” ด้วยบรรยากาศของชุมชนอีสานในปัจจุบันของบ้านดงน้อย จังหวัดมหาสารคาม