ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

KHON KAEN GEOPARK - PHU WIANG DISTRICT

เผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ชวนเช็คอิน 9 จุด “ต้องห้ามพลาด!” – อำเภอภูเวียง และ เวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น
โดย อุทยานธรณีขอนแก่น (Khon Kaen Geopark) และ ศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA ขอนแก่น)

เที่ยวสายลุยไปกับเส้นทางตามรอยตามไดโนเสาร์และสำรวจหลุมขุดค้นซากฟอสซิลกลางป่าอุทยานแห่งชาติภูเวียงร่วมเวิร์กชอป “มัดย้อมผ้าฝ้ายด้วยดินหินยุคโบราณ” ทำความรู้จักกับ “ไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์ที่ถูกพบในขอนแก่น”  จากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียงพร้อมสนับสนุนสินค้าและผลผลิตการเกษตรของผู้คนในชุมชน

1.อุทยานแห่งชาติภูเวียง – Phu Wiang National Park

เยือน “อุทยานแห่งชาติภูเวียง” เพื่อปฐมนิเทศสู่บ้านหลังใหญ่ของเหล่าไดโนเสาร์แห่งเทือกเขาภูเวียง อันมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งอ.ภูเวียง อ.เวียงเก่า อ.สีชมพู อ.หนองนาคำ และ อ.ชุมแพ ซึ่งเส้นทางท่องเที่ยวของเราจะเน้นอยู่ในอ.ภูเวียง และอ.เวียงเก่า

ไปเดินชมเส้นทางไดโนเสาร์ ฟังเรื่องเล่าจากหลุมขุดค้น ถึงการค้นพบชิ้นส่วนฟอสซิลไดโนเสาร์ นำไปสู่การค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์แรกของประเทศไทย โดยมีหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงเป็นผู้ดูแลตลอดเส้นทาง

ท่ามกลางผืนป่าและเทือกเขาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงแห่งนี้ คือ บริเวณพื้นที่ที่มีการขุดค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์มากถึง 5 สายพันธุ์ ซึ่งทางอุทยานเป็นผู้ดูแลหลุมขุดค้นรวมไปถึงเส้นทางเดินป่าสู่หลุมขุดค้นจุดต่างๆ ให้ง่ายแก่การเดินทางมาศึกษาธรรมชาติให้แก่นักสำรวจไดโนเสาร์ทุกคน

2.พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง – Phu Wiang Dinosaur Museum

ตะลุยป่าไปตามหลุมขุดค้นจุดต่างๆกันมาแล้ว ก็มาสู่พื้นที่นิทรรศการ จัดกระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์กันที่ “พิพิธภัณ์ไดโนเสาร์ภูเวียง”

ที่นี่มีการจัดนิทรรศการเล่าเรื่องตั้งแต่กำเนิดไดโนเสาร์ ช่วงเวลายุคต่างๆที่โลกยังมีไดโนเสาร์ ก่อนจะนำไปการสูญพันธ์ในเวลาต่อมา และการค้นพบไดโนเสาร์ตามพื้นที่ต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่เริ่มต้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูเวียงนั่นเอง และมีการจัดแสดงห้องปฏิบัติการบรรพชีววิทยาให้ได้ตื่นตาตื่นใจไปด้วย

มาทำความรู้จักกับไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์ ที่ถูกค้นพบในขอนแก่น ได้แก่
1.ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus Sirindhornae)
ไดโนเสาร์กินพืช เดิน 4 เท้า ความยาวประมาณ 15-20 เมตร คอและหางยาว
มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน
“สิรินธรเน” เป็นชื่อชนิดของไดโนเสาร์ ตั้งขึ้นเพื่อถวายพรเกียรติแด่
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยในงานด้านบรรพชีวินวิทยาอย่างมาก

2.กินรีไมมัส ขอนแก่นเอสซิส (Kinnareemimus Khonkaennsis)
ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศ วิ่งเร็ว ปราดเปรียว ไม่มีฟัน ความยาวประมาณ 1-2 เมตร กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้นเมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน

3.สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิล (Siamotyrannus Isanensis)
ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ เดิน 2 เท้า ความยาวประมาณ 6.5 เมตร มีขาหลังที่ใหญ่และแข็งแรง
มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน

4.สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus Suteethorni)
เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ชนิดแรกที่พบในประเทศไทย เดิน 2 เท้า ความยาวประมาณ 7 เมตร ฟันมีลักษณะเป็นทรงกรวย มีแนวร่องและสันเรียงสลับตลอดคล้ายฟันของจระเข้ มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว

5. ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมี (Phuwiangvenator Yaemniyomi)
ไดโนเสาร์ประเภทกินเนื้อ ขนาดลำตัวยาว ราว 5-6 เมตร วิ่งเร็ว กรงเล็บใหญ่ กะโหลกเรียว นับเป็นไดโนเสาร์สกุลและชนิดใหม่ของโลก อายุประมาณ 130 ล้านปี

หากอยากทราบรายละเอียดของไดโนเสาร์แต่ละสายพันธุ์ และเห็นไดโนเสาร์ขนาดจริงตรงหน้า ต้องไปเยือน พิพิธภัณ์ไดโนเสาร์ภูเวียงเท่านั้น!

3.ขนมจีนเส้นสด – Fresh rice noodles

“ขนมจีนเส้นสด” ร้านขนมจีนและส้มตำสุดแซ่บเป็นที่รู้จักกันดีของคนในละแวกอำเภอเวียงเก่า และใครที่ผ่านเส้นทางสู่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จะต้องสังเกตเห็นร้านส้มตำที่ประดับประดาด้วยธุงแมงมุมอันวิจิตรงดงาม เอกลักษณ์หนึ่งของงานศิลปะอีสาน

นอกจากโดดเด่นด้วยการตกแต่งร้าน ส้มตำ และ ขนมจีนของที่นี่ไม่เป็นสองรองใครแน่นอน

หากได้มาเยือนพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ต้องได้ลิ้มรส ขนมจีนเส้นสด และ ตำแซ่บสะเดิด
ในเมนู “ตำมั่ว” ของร้าน การันตีความแซ่บเลย

4.ตึกเหลือง โรงเรียนภูเวียงวิทยายน – Yellow buildings, Phu Wiang Wittayayon School

โรงเรียนภูเวียงวิทยายน โรงเรียนเก่าแก่อายุ 120 ปี
โรงเรียนแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่5 จากนโยบายส่งเสริมให้ประชาชาชนได้มีการศึกษาอย่างกว้างขวางและในปี พ.ศ. 2441นั้นเอง “พระศรีทรงไชย” เจ้าเมืองภูเวียง จึงริเริ่มให้มีการก่อตั้งโรงเรียนขึ้นในฐานะที่เมืองภูเวียงเป็นหัวเมืองสำคัญ ปัจจุบันพื้นที่ของเมืองภูเวียงคือ อ.ภูเวียง และ อ.เวียงเก่า ซึ่งตึกเหลืองของโรงเรียนภูเวียงวิทยายนตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เวียงเก่า ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง และเป็นทางผ่านไปสู่อุทยานแห่งชาติภูเวียงเช่นกัน

ต่อมาในปี พ.ศ.2468 ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้น “อำมาตย์เอกพระยาบริหารราชการอาณาเขต (ยิ้ม นีละโยธิน)” ได้ของบประมาณจากทางราชการมาก่อสร้างอาคารเรียน จึงมีการก่อสร้าง อาคาร 1 ชั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบไทย ตัวอาคารก่อด้วยอิฐโบกปูนทาด้วยสีเหลือง สีของอาคารนี้เองที่ทำให้ชาวภูเวียงรู้จักที่นี่ในชื่อว่า “ตึกเหลือง”

ตึกเหลืองใช้เวลาในการก่อสร้างร่วม 5 ปี จนแล้วเสร็จ และในปี 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าให้โรงเรียนนี้ชื่อว่า “โรงเรียนภูเวียงวิทยายน” กว่า 85 ปีแล้วที่ตึกเหลืองตั้งตระหง่านสวยงามทรงคุณค่า และทางโรงเรียนยังใช้งานตึกเหลืองแห่งนี้อยู่เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

5.จิบกาแฟที่ร้าน “ไดโนเฟ่” และ พักผ่อนในอ้อมกอดขุนเขาที่ “โรงแรมภูอ้อมวิลล์”
– Dino Cafe and Phu-om Ville Hotel

หากใครกำลังมองที่พักที่สะดวกสบาย แถมหน้ารีสอร์ทก็มีคาเฟ่ที่พร้อมเสิร์ฟกาแฟแสนอร่อยให้คุณได้ทุกเมื่อ ขอแนะนำให้มาพักที่ “โรงแรมภูอ้อมวิลล์”

ห้องพักของ“โรงแรมภูอ้อมวิลล์” กว้างขวาง สะอาด เป็นส่วนตัว และสะดวกสบายด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าอำนวยความสะดวกครบครัน เลือกขนาดห้องได้ตามจำนวนผู้เข้าพัก บรรยากาศของรีสอร์ทถูกห้อมล้อมด้วยแนวเขาของเทือกเขาภูเวียง อากาศเย็นสบายตลอดปี และมีสโลแกนที่อยากให้ทุกคนมาพักที่นี่ว่า
“พักค้างแรมที่ภูอ้อมวิว ณ หุบเขาไดโนเสาร์ 1 คืน อายุยืน 1 ปี”

ด้านหน้าของโรงแรมภูอ้อมวิลล์ มีร้านกาแฟเล็กๆน่ารัก ในชื่อ “ไดโนเฟ่” ที่พร้อมเสิร์ฟกาแฟ ขนมหวาน ไปจนถึงบิงซูให้กับผู้มาเยือนเสมอ

6.กิจกรรม “ย้อมผ้า” กับ กลุ่มทอผ้า “ผ้าฝ้ายธรณิน”
– Workshop ‘Tie dyeing’ with ‘Fai Thoranin: Weaving Community Group’

เส้นผ้าฝ้ายสีโอลด์โรส โทนน้ำตาลส้ม เป็นเส้นสายใยฝ้ายอันเป็นเอกลักษณ์ของ “กลุ่มผ้าฝ้ายธรณิน”
กลุ่มแม่บ้านแห่งบ้านโคกม่วง อ.เวียงเก่า จ.ขอนแก่น

การรวมกลุ่มกันของกลุ่มผ้าฝ้ายธรณิน เกิดจากการสานต่องานภูมิปัญญาทอผ้าสำหรับนุ่งห่มที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ต่อยอดขึ้นอีกระดับด้วยการใช้ความรู้ด้านธรณีวิทยาจากเหล่านักสำรวจขุดค้นชั้นดินและชั้นหินในพื้นที่ภูเวียง

เกิดเป็นการนำเอาดินที่ผุกร่อนจากหินทรายยุคครีเทเชียส (ประมาณ 130 ล้านปี) ซึ่งเป็นหินทรายจากยุคเดียวกับไดโนเสาร์ที่ถูกขุดพบ จากดินนั้นเองถูกมาใช้เป็นสีในการย้อมผ้า นำมาสู่ผืนผ้าที่มีอัตลักษณ์แห่งแผ่นดินภูเวียงในนาม “ผ้าฝ้ายธรณิน”

กิจกรรมนี้ต้องติดต่อไปยังกลุ่มผ้าฝ้ายธรณินก่อนทุกครั้ง ทางแม่ๆจะเตรียมกิจกรรมให้ได้เรียนรู้ ที่มาที่ไปของการนำฝ้ายมาทอเป็นผืนผ้า

และทำกิจกรรม DIY ย้อมผ้าด้วยสีดินจากหินยุคไดโนเสาร์เพื่อเป็นของที่ระลึกติดได้ติดมือกลับบ้าน

7.ขนมเปี๊ยะไข่ไดโนเสาร์ – Dinosaur Mung Bean Cake

นอกจากของที่ระลึกอย่างผ้าฝ้ายสีดินของกลุ่มผ้าฝ้ายธรณินแล้ว หากใครกำลังมองหาของฝากติดมือกลับบ้าน ก็อยากจะแนะนำให้ได้ช็อป “ขนมเปี๊ยะไข่ไดโนเสาร์”

ผลิตภัณฑ์ขนมจากความคิดสร้างสรรค์ของคนในเวียงเก่าที่ต้องการสร้างเอกลักษณ์ ด้วยการทำขนมเปี๊ยะด้วยแนวคิดที่เชื่อมโยงกับไดโนเสาร์ โดย 5 รสของขนมเปี๊ยะ ก็จะเชื่อมโยงว่าเป็นไข่ของไดโนเสาร์ทั้ง 5 สายพันธุ์ที่ถูกค้นพบในภูเวียง

8.สวนศิลป์อินทผลัม – ‘Suan Sin Intapalum’

อินทผลัม สดๆจากสวน เป็นอีกหนึ่งของฝากจากเวียงเก่าที่ไม่ควรพลาดหากได้มาเยือนถึงถิ่นแล้ว
“สวนศิลป์อินทผลัม” เป็นหนึ่งไร่ที่ปลูกอินทผลัมแล้วได้ผลผลิตดี ที่สำคัญรสชาติหวานกรอบติดใจ

ผลอินทผลัมสามารถกินสดได้ มีรสชาติกรอบหวานทานเพลิน พอถูกคั้นสกัดเป็นน้ำอินทผลัมก็หอม
ดื่มแล้วสดชื่น ได้พลังงานจากน้ำตาลธรรมชาติเต็มๆ

นอกจากอินผลัมของสวนศิลป์อินทผลัมจะอัดแน่นไปด้วยความอร่อยที่ควรเลือกซื้อหาไปเป็นของฝาก อากาศดีๆที่นี่ก็เป็นบรรยากาศเหมาะแก่การพาคนรักมาเดินเล่นเปลี่ยนบรรยากาศอีกด้วย

9.วัดถ้ำผาเกิ้ง – Wat Tham Pha Keng Temple

ก่อนออกจากพื้นที่ของภูเวียงและเวียงเก่า ก็ควรที่จะแวะไปไหว้พระ เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนกลับบ้าน กันที่ “วัดถ้ำผาเกิ้ง”

วัดถ้ำผาเกิ้งเป็นสถานปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา บรรยากาศร่มรื่นสถานที่กว้างขวาง ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูเวียง มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านแผ่บารมีแห่งพระพุทธศาสนาโดยมีรูปปั้นพญานาคและเสาอโศกเคียงข้าง

 

เพื่อให้การท่องเที่ยวครั้งนี้สมบูรณ์ และเดินทางกลับด้วยความสบายใจ การได้ไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด

หากใครกำลังวางแผนอยากไปสำรวจเส้นทางไดโนเสาร์ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือช่วยเหลือประสานงานสามารถติดต่อได้ที่ “อุทยานธรณีขอนแก่น (Khon Kaen Geopark)”

 

แชร์