ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

เกร็ดความรู้: สำเนียงเสียงอีสาน

เผยแพร่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ตื่มฮักตื่มแพง สำเนียงเสียงอีสาน ความหลากหลายที่เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว คนจากหลากหลายพื้นที่ ความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ และการควบรวมกันกลายเป็นพื้นที่ที่เรียกว่าภาคอีสาน ทำให้พื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีความแตกต่างหลากหลายในเรื่องของการสื่อสาร วิธีการพูดและสำเนียงภาษาอีสานจึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนท้องถิ่นสามารถเข้าใจและระบุได้ว่าผู้พูดนั้นเติบโตและอยู่อาศัยในพื้นที่ใด ด้วยการตั้งรกรากในพื้นที่ราบสูง เช่น แอ่งโคราช หรือแอ่งสกลนคร รวมถึงการอพยพของผู้คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง ทำให้ภาคอีสานมีผู้คนมากมายหลั่งไหลเข้ามาตั้งรกราก จนทำให้เกิดภาษาและสำเนียงท้องถิ่นมากกว่า 16 สำเนียงตามพื้นที่อยู่อาศัย และสามารถแบ่งออกเป็นสำเนียงหลัก ๆ 8 สำเนียง คือ


สําเนียงขอนแก่น (KHON KAEN ACCENT) หรือมักเรียกกันว่า สำเนียงลาวอีสาน เป็นสำเนียงที่คุ้นหูคนทั่วไปมากที่สุด เพราะมีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไปในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด​ อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม บุรีรัมย์ หนองคาย และนครราชสีมา จนผู้คนนับว่าเป็นสำเนียงมาตรฐานของภาษาอีสาน 


สําเนียงร้อยเอ็ด (ROI-ET ACCENT) มีลักษณะคล้ายคลึงกับสำเนียงขอนแก่น แต่จะมีลักษณะการพูดที่กระชับมากกว่า 


สําเนียงชัยภูมิ (CHAIYAPHUM ACCENT) เป็นสำเนียงท้องถิ่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากพื้นที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว และแพร่หลายมายังประเทศไทย ใช้ในบางเขตพื้นที่ของจังหวัดชัยภูมิ หนองบัวลำภู หนองคาย ขอนแก่น ยโสธร ศรีสะเกษ และนครราชสีมา จะมีสำเนียงที่มีการพูดแบบเนิบ ๆ มีการพูดช้ากว่าสำเนียงอื่น ๆ เพราะได้รับอิทธิพลมาจากภาษาไท อีกทั้งยังมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ ๆ ขึ้นมาแทนการใช้คำพื้นเมือง ทำให้เป็นสำเนียงที่มีความคล้ายกับภาษาไทยที่ผู้คนคุ้นชิ้นนั่นเอง 


สําเนียงเลย (LOEI ACCENT) หรือสำเนียงลาวเหนือ เป็นสำเนียงที่ได้รับอิทธิพลมาจากพื้นที่หลวงพระบาง ประเทศลาว มีการใช้สำเนียงลาวเหนือนี้ในเขตพื้นที่จังหวัดเลย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น หนองคาย และอุดรธานี จะมีการใช้เสียงสูงต่ำ และมีความเหน่อ ทำให้เป็นสำเนียงที่โดดเด่น คล้ายกับการพูดของผู้ที่อยู่อาศัยในกลุ่มจังหวัดสุพรรณบุรี


สําเนียงอุบลฯ (UBON ACCENT) พบว่ามีการใช้อย่างทั่วไปในเขตพื้นที่ที่มีเขตติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชา โดยผู้ที่ใช้สำเนียงนี้มักจะพูดเร็ว และมีสำเนียงที่ค่อนข้างแข็งกร้าว เนื่องจากได้รับอิทธิพลมาจากภาษาเขมรร่วมด้วย ใช้ในหลายพื้นที่ทั้งจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และสุรินทร์


สําเนียงศรีสะเกษ (SISAKET ACCENT) จะมีลักษณะที่คล้ายกับสำเนียงอุบลฯ แต่จะมีการใช้เสียงสูงต่ำที่แตกต่างออกไป โดยสำเนียงศรีสะเกษจะมีเสียงที่สูงกว่าสำเนียงอุบลฯ


สําเนียงภูไท (PHOOTAI ACCENT) มักใช้ในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม จะลงท้ายประโยคด้วยหางเสียงยาว อีกทั้งสำเนียงภูไทยป็นสำเนียงที่พูดที่สืบทอดกันมาอย่างปากต่อปาก และมีการใช้งานที่ลดลงไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ จึงทำให้มีการรณรงค์เพื่อรักษาสำเนียงภูไทไว้


สําเนียงญ้อ (YUO ACCENT) เป็นสำเนียงที่มีความคล้ายคลึงกับภาษาเวียดนาม มีการใช้เสียงสูง และอ่อนหวาน คล้ายกับสำเนียงเลย แต่จะมีการใช้สระและวรรณยุกต์ที่ต่างออกไป


และแม้ว่าพื้นที่ภาคอีสานจะมีความแตกต่างกันเรื่องของสำเนียงของภาษา แต่ชาวอีสานก็ยังฮักแพงตุ้มโฮมเป็นพี่น้องกันในภูมิภาคอย่างแน่นแฟ้น ไม่ว่าจะมีการย้ายถิ่นหรือขยับขยายพื้นที่ไปยังภูมิภาคใดของประเทศไทย ความเป็นพี่น้องของคนอีสานก็ยังเหนียวแน่น พร้อมที่จะต้อนรับคนบ้านเดียวกันด้วยความยินดีเฉกเช่นเดิม


หากใครสนใจความเป็นอีสาน ไม่ว่าจะในเรื่องของภาษาหรือสำเนียงท้องถิ่น สามารถมาพบกันได้ใน เดิน ตื่ม เมือง ตอน อีสาน (อยู่) ในสาย (CONNECTING THE DOT: ISAN PHONE BOOTH) หนึ่งในกิจกรรมภายใต้งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ในธีม “Regional (enlight)sation #เติมเต็มถิ่นฐาน ตื่มบ้านตื่มเมือง” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1-9 เมษายนนี้ ที่จังหวัดขอนแก่น แล้วเจอกัน!


ติดตามความเคลื่อนไหว / Follow us

https://isancreativefestival.com/

FB/IG: isancreativefestival

Line: @isancf


#ISANCF2023

#ISANCREATIVEFESTIVAL



แชร์